xs
xsm
sm
md
lg

“โรม” เดินหน้ายื่นญัตติขอทบทวนมติรัฐสภาห้ามโหวตชื่อ “พิธา” ซ้ำ เตือน อย่าเผาบ้านไล่หนูจนผิดหลักการ รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โรม” เดินหน้าเสนอ “วันนอร์” ยื่นญัตติทบทวนมติรัฐสภา ที่ห้ามโหวตชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ ซ้ำ ตอบไม่ได้จะชนะหรือไม่ บอกไม่ได้เป็นคนตัดสิน กระตุกสมาชิก “อย่าเผาบ้านไล่หนู” จนผิดหลักการ รธน. ย้ำ หากยึดบรรทัดฐานแบบนี้ คงต้องดูสมัยประชุมหน้า

วันที่ 18 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา ก่อนการประชุมหารือร่วมกันของประธานรัฐสภา ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา และตัวแทนพรรคการเมือง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงกรณีการเสนอญัตติทบทวนมติรัฐสภาในการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สอง ว่า ยังยืนยังเหมือนเดิมว่า ที่จริงแล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ได้วินิจฉัย

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของทางเทคนิค แต่ในเรื่องของเนื้อหาสาระ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการพิจารณา ดังนั้น สภาสามารถทบทวนได้ ซึ่งการประชุมในวันนี้ตนจะนำเสนอต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ว่าที่จริงแล้ว สามารถกำหนดเวลาในการประชุมได้ ในส่วนของญัตติที่จะทบทวน ไม่ต้องใช้เวลายืดยาว สามารถใช้เวลาของสภาสั้นนิดเดียว เพื่อให้โอกาสสภาพิจารณาในสิ่งที่ตัวเองทำพลาดและคงไม่ต้องลงรายละเอียดว่าพลาดอะไรบ้าง ตนคิดว่ามีความประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นจะเสนอญัตติต่อไป

เมื่อถามว่า ประเมินว่า จะมีการโหวตชนะหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ก็คงหวังให้ชนะ แต่สุดท้ายเราก็คงไม่ใช่คนที่ตัดสิน ดังนั้นต้องไปดูกันหน้างาน

“แต่พูดกันตรงไปตรงมาอย่าเผาบ้านไล่หนู ผมคิดว่าคนทำลายหลักการกันไป สุดท้ายถ้ามันเป็นบรรทัดฐานจริงๆ เป็นเรื่องใหญ่ การใช้กลไกของสภาในการเสนอชื่อบุคคล ไม่ได้มีแค่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มันมีอีกหลายอย่าง ดังนั้น จึงต้องระวังให้ดี ในการพิจารณาเอาเรื่องนี้เป็นบรรทัดฐาน สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามนำเสนอ ถ้าก่อนหน้านี้ คุณต้องการเล่นงานพรรคก้าวไกล ต้องการไม่ให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณทำสำเร็จไปหมดแล้ว ทำไมจะต้องยืนยันแบบเดิมเพื่อทำลายหลักการที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่า หากเกมออกมาในรูปเดิม พรรคก้าวไกลดำเนินการอย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ก็คงทำอะไรไม่ได้แล้ว คิดว่า คงไม่มีการเสนอให้ครบตรวจซ้ำอีกรอบหนึ่ง เพราะทำไม่ได้ตามกฏหมาย ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นการนำเสนอญัตติซ้ำ แล้วแสดงว่าข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดแบบนี้ สภาก็ยังคงยึดถือบรรทัดฐานแบบนี้ คงต้องยอมรับว่าอย่างน้อยในสมัยประชุมนี้บรรทัดฐานเป็นแบบนี้ ส่วนในอนาคตข้างหน้าคงต้องไปว่ากัน

เมื่อถามว่า หากโหวตแพ้แสดงว่าต้องเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีฝ่ายรัฐบาล ตอนนี้ต้องมาดูว่าจะมีฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นในวันที่ 22 ส.ค. หรือไม่ ดังนั้น ตนว่าต้องดูในส่วนนั้นก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น