อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด ลงพื้นที่จ.สงขลา มอบเครื่องมือประกอบอาชีพให้แรงงานกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มุ่งเป้าสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน หวังช่วยแรงงาจกินดีอยู่ดีหนีความยากจน
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และแนวทางการพัฒนาทักษะให้แรงงานคลอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มีอาชีพติดตัวมีรายได้เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวผ่านการฝึกอาชีพ โดยมีเป้าหมายดำเนินการฝึกอบรม 31,500 คน ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 31,528 คน ซึ่งจังหวัดที่มีผู้ผ่านฝึกอบรมมากที่สุดคือชลบุรี 999 คน รองลงมาเป็นนครสวรรค์ 640 คน ขอนแก่น 600 คน ลำปาง 599 คน และสงขลา 598 คน ตามลำดับ สำหรับหลักสูตรยอดนิยมที่มีผู้ให้ความสนใจเข้ารับการฝึกอบรม เช่น การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า บาริสต้ามืออาชีพ ผู้ประกอบอาหารไทย การตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมมีงานทำจำนวน 15,804 คน มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อคนต่อปี 26,612 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 2,100 บาทต่อคน โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมนำความรู้ไปประกอบอาชีพ 5 อันดับแรก ดังนี้ 1. การประกอบขนมอบ 2.การตัดเย็บเสื้อผ้า 3.การออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้า 4. ผู้ประกอบอาหารไทย และ 5.การแปรรูปเนื้อสัตว์และการตลาดออนไลน์ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมมีงานทำนอกจากมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มอบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่อยอดในการประกอบอาชีพอีกด้วย ซึ่งในวันนี้มีโอกาสลงพืันที่มาให้กำลังใจผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม พร้อมมอบวุฒิบัตรและเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมในสาขาการเชื่อมประกอบผลิตภัณฑ์ จำนวน 20 คน ส่วนจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ก็มีดำเนินการแล้วเช่นกัน ล่าสุดได้มอบหมายให้นายสมชาติ สุภารี ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องมือทำมาหากินให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทย จำนวน 40 คน ณ ศาลาอเนกประสงค์ บ้านล่าง ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง ที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล ดำเนินการจัดมอบเครื่องมือทำมาหากิน ให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม การตัดเย็บเสื้อผ้า อ.มะนัง จ.สตูล จำนวน 20 คน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว ชุมชน ต่อไป เป็นต้น
“การมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ทำมาหากินดำเนินการทั่วประเทศ เพื่อมุ่งเป้าหมายให้แรงงานที่มีบัตรสวัสดิการรัฐ ได้มีการงานทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และยังเป็นส่วนเติมเต็มให้กับบางอาชีพที่ยังขาดแคลนภายในชุมชนอีกด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย