xs
xsm
sm
md
lg

สคล. ย้ำประชาสังคมหนุนการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สคล. ย้ำประชาสังคมหนุนการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลด-ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สสส. ชี้ WHO แนะนำ3 มาตรการสำคัญเพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ หลังผลสำรวจปี 64 พบเด็กเยาวชนอายุ 15-19 ปี ถึง 30.8%

นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า แม้ว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พรบ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พศ. 2551 จะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข แต่การดำเนินงานที่ผ่านมา สคล. และภาคีเครือข่ายในฐานะภาคประชาสังคม ได้เข้าสนับสนุนโดยติดตามการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งข้อมูลร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ควบคุมดูแลให้ดำเนินการตามกฎหมาย ตาม พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุการควบคุมการขาย และจุดจำหน่าย เช่น ห้ามขายห้ามดื่มในสถานที่ราชการ ศาสนสถาน ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ตามมาตรา 30 ห้ามส่งเสริมการขาย เช่น การเร่ขาย การลดราคา การจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ รวมถึงมาตรา 32 ห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมาย อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม กรณีที่มีการนำสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นมาโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย อีกบทบาทคือ การชี้ให้เห็นความสำคัญต่อประชาชนว่า การโฆษณา และส่งเสริมการขายมีอิทธิพล ส่งผลต่อการกระตุ้น ทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น หากมีการเปิดให้โฆษณาโดยเสรี จะยิ่งทำให้เข้าถึงเด็ก และเยาวชนมากขึ้น รวมถึงจะเกิดผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา

“การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อ รวมถึง ส่งเสริมการขาย การโฆษณา และส่งเสริมการขายมีอิทธิพล ส่งผลต่อการกระตุ้น ทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น การเปิดกว้างให้มีผู้ผลิตมากขึ้นตามกฎกระทรวงที่เพิ่งออกมา หรือตามการเสนอกฎหมายสุราก้าวหน้า เป็นการลดการผูกขาดก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรไปลดการควบคุมกระตุ้นให้มีผู้ดื่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น หากมีการเปิดให้โฆษณาโดยเสรี จะยิ่งทำให้กระตุ้นเด็ก และเยาวชนมากขึ้น รวมถึงจะเกิดผลกระทบต่างๆ ทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ที่จะตามมา ซึ่งภาคีเครือข่ายจะเดินหน้ารณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ตระหนักความสำคัญในเรื่องนี้” นายธีระ กล่าว

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็ก และเยาวชนเพิ่มมากขึ้น คือ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ระบุถึง นักดื่มหน้าใหม่ของไทย พบในช่วงอายุ 15-19 ปี มากถึง 30.8% ช่วงอายุ 20-24 ปี 53.3% นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนนักดื่มเพศหญิงเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบจากปี พ.ศ.2560 ซึ่งการออกโฆษณา และทำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดึงดูดความสนใจของเยาวชน และผู้หญิง เช่น เครื่องดื่มผสมพร้อมดื่ม น้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่นิยมดื่มกันในภาพยนตร์ต่างประเทศ บรรจุภัณฑ์มีสีสันสวยงาม ซึ่งเยาวชนที่เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีโอกาสติดสุราจนทำให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในประเทศ จนนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตที่มากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกชี้ถึงมาตรการสำคัญที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมนักดื่มหน้าใหม่ คือ 1. การจำกัดสถานที่ อายุ วัน และเวลาในการขาย 2. การขึ้นภาษีใช้มาตรการราคาเข้ามาช่วยเพื่อลดแรงจูงใจเข้าถึง 3. การควบคุมจำกัดการโฆษณาและส่งเสริมการขาย

“สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมความชุกของผู้บริโภค ผ่านการรณรงค์ ปรับเปลี่ยนค่านิยม ผลักดันมาตรการ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมในงานบุญประเพณี และเทศกาลปลอดเหล้า ลดความเสี่ยง และอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พัฒนากลไกการจัดการสนับสนุนกระบวนการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง จนในสิบปีที่ผ่านมา นักดื่มระดับหนักมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจาก ร้อยละ 13.9 ใน พ.ศ. 2557 เป็นร้อยละ 11.9 ใน พ.ศ. 2560 และลดลงเหลือร้อยละ 10.0 ใน พ.ศ. 2564 ” ดร.ประกาศิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น