xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านหลักการร่างกฎกระทรวง ความปลอดภัยอัคคีภัยสร้างอาคารยึดมาตรฐานสากล-จำนวนห้องน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง สร้างความปลอดภัย-ระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย สร้างอาคารต้องได้มาตรฐานสากล รวมถึงจำนวนห้องน้ำ ลดภาระประชาชน-ระบบแจ้งเหตุเตือนภัยซ้ำซ้อน


วันนี้ (15ส.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการเพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่าและมีจำนวนห้องน้ำและห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1490-3/65 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว และกระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งได้จัดทาสรุป ผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ด้วยแล้ว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย และข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของอาคารแต่ละประเภทในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่มีความปลอดภัยต่อการใช้สอยเทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่าและมีจำนวนห้องน้าห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ เช่น
1. กำหนดคำนิยาม เช่น คำว่า “อาคารสาธารณะ”, “การกั้นแยก” “สุขภัณฑ์”, “ที่ปัสสาวะ” โดยกำหนดบทนิยามให้เป็นมาตรฐานใกล้เคียงกับศัพท์สามัญ โดยสัมพันธ์กับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ใช้ใน Building Code เช่น “สุขภัณฑ์” = fixture, plumbing fixture
2. ตัดและเพิ่มประเภทอาคาร เช่น ตัดอาคารประเภท “โรงมหรสพและสถานบริการ” เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะหรือมีความซ้ำซ้อน และเพิ่มอาคารประเภท “คลังสินค้าและอาคารชุด” ที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการควบคุม
3. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน จึงแก้ไขข้อความเรื่องระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เช่น ระบบสัญญาณเตือนฯ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติ หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ, เพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องการอุดปิดล้อมช่องท่อและช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนังเพื่อป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลาม และเพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องที่ตั้งของห้องน้ำต้องจัดอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้สะดวก โดยทางเดินสู่ห้องน้ำต้องไม่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ห้องครัวและไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือกิจกรรมอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และมีระยะทางเดินจากจุดใด ๆ ในอาคารตามที่กำหนด เช่น ศูนย์การค้าไม่เกิน 90 เมตร
4. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น กำหนดให้มีการกั้นแยกบางส่วนของอาคาร (เช่น อาคารสาธารณะ คลังสินค้า ที่มีห้องเก็บสิ่งของหรือวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้ ห้องเครื่องหรือห้องควบคุมระบบอุปกรณ์ของอาคารต้องจัดให้มีการกั้นแยกพื้นที่) โดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชม. เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ และกำหนดวิธีคิดจำนวนที่สาหรับที่ปัสสาวะกรณีมีลักษณะเป็นราง

“นอกจากจะห่วงใยในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำเนินการต่อเนื่องตลอดมาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดภาระของประชาชน ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จึงยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อลดภาระประชาชนเนื่องจากกฎหมายเดิมสร้างภาระให้แก่ประชาชนมากเกินไป เช่น การกำหนดให้ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้อาคารดังกล่าวต้องใช้ระบบสัญญาณเตือนฯ แบบที่มีคุณสมบัติทั้งสามารถตรวจจับควันและสามารถส่งสัญญาณเตือนได้ภายในเครื่องเดียวกันไว้อยู่แล้ว (แบบ 2 in 1) จึงไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุแบบใช้มือไว้อีก ซึ่งทำให้การทำงานซ้ำซ้อนกันและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยไม่จำเป็น” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น