รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่1 เอ ในเขตจ.เชียงราย รวม 52 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดโครงการก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการปี 2571
วันนี้ (15ส.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 ส.ค. 2566 ได้อนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่1 เอ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในทางรถไฟสายใหม่ระยะเร่งด่วน ภายใต้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-65 ซึ่งโครงการฯ ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561
การขอ ครม. เพื่อผ่อนผันครั้งนี้ เนื่องด้วยโครงการฯ มีงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟที่มีส่วนพาดผ่านลุ่มน้ำชั้นที่1 เอ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ บริเวณตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง และ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 2,376 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่รวม 52 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ซึ่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ของโครงการฯ ได้ผ่านความเห็นขอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2560 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ(สศช.) ได้ให้การเห็นชอบด้วยแล้ว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 323.10 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างที่สถานีรถไฟเด่นชัย จังหวัดแพร่ และมีสุดสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กรอบวงเงินลงทุน 85,345 ล้านบาท มีระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่ 15 ก.พ. 2565 ถึง 14 ม.ค. 2571 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571
มีงานก่อสร้างประกอบด้วย 1)ทางรถไฟคู่ใหม่ 2 เส้นทาง (รางกว้าง 1 เมตร) 2) สถานีรถไฟ 26 สถานี (สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี ขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถไฟ 13 สถานี) 3)อุโมงค์ทางวิ่งรถไฟและงานระบบภายในอุโมงค์ จำนวน 4 แห่ง 4) ลานขนถ่ายสินค้าและบรรทุกตู้สินค้า (container yard)จำนวน 5 แห่ง 5)สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ(overpass) จำนวน 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ (underpass) จำนวน 102 แห่ง 6) งานโยธาอื่นๆ เช่นระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนข้าม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการฯนี้ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2566-70 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก:การสร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ระหว่างท่าเรือ รถไฟ ถนน และท่าอากาศยานอย่างครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อุตสาหกรรมและด่านชายแดนสำคัญ มีเป้าหมายหลักในการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งหมดจากเฉลี่ยร้อยละ 0.10 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 7 ในปี 2570
โดย ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ ดำเนินตามมติ ครม. วันที่ 9 ส.ค. 2565 กรณีการดำเนินโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ต้องมีการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์ หรือรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณตามโครงการ แต่หากการดำเนินการดังกล่าวมีผลทำให้กรอบวงงเงินของโครงการเปลี่ยนแปลงไปจากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้กระทรวงคมนาคมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
พร้อมกำชับให้ รฟท. เร่งดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงการพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์และการปรับปรุงด่านชายแดนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ทั้งภายในและระหว่างประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบโลจิสติกส์