นักวิชาการห่วง ผลกระทบกัญชา-กระท่อม ส่งผลต่อระบบสมอง ตับ ทางเดินอาหาร เสี่ยงก่อความรุนแรงในสังคม ด้านมาเลเลเซีย ยัน ไม่มีงานวิจัยกัญชา-กระท่อม ในระดับนานาชาติที่ยืนยันได้ผลทางการแพทย์
รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในการประชุมวิทยาศาสตร์การเสพติด ปี 2566 ในประเด็น นโยบายยาเสพติดและการนำสู่การปฏิบัติ (Thailand Addiction Scientific Conference 2023: Drug Policy and Implementation) หัวข้อประเด็นเชิงสุขภาพและสังคมภายหลังปลดล็อกกัญชาและใบกระท่อม ว่า จากการวิจัยการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าสารเซโรโทนินจากใบกระท่อมออกฤทธิ์ส่งผลต่อการทำงานของสมอง สามารถตอบโจทย์บำบัดรักษาภาวะโรคอ้วน และภาวะซึมเศร้าได้ แต่การนำใบกระท่อมมาใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติด ประเภทมอร์ฟีน เฮโรอีน และยาบ้า ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการบำบัดรักษาทางการแพทย์ปัจจุบันได้
รศ.พญ.พิมพ์ศิริ ศรีพงศ์พันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบของกัญชาต่อระบบการทำงานของตับและทางเดินทางอาหารพบว่า ทั้งสารออกฤทธิ์ THC และ CBD ในกัญชาส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท ทำให้การทำงานของทางเดินอาหารช้าลง ส่งผลให้ค่าตับสูง ผลการศึกษาวิจัยยังบ่งชี้อันตรายทางสุขภาพอื่นที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองและหัวใจวายเฉียบพลัน ความจำเสื่อมชั่วขณะ
“สำหรับกระท่อม มีรายงานการศึกษาว่าหากใช้ในรูปแบบค็อกเทลอย่าง "สี่คูณร้อย" ซึ่งเป็นสารเสพติดที่เกิดจากการนำยาน้ำแก้ไอมาผสมกับใบกระท่อม และน้ำอัดลม ติดต่อกันเป็นเวลานานจะ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ และยังมีรายงานการเสียชีวิตจากการเก็บข้อมูลของศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วงปี 2553-2560 จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้กัญชาและใบกระท่อมในระยะยาวต่อไป” รศ.พญ.พิมพ์ศิริ
พญ.สรสพร จูวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ดูแลกลุ่มงานสังคมเคราะห์ งานสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน กล่าวว่า ภาคใต้ของไทยมีการใช้ใบกระท่อมสูตรค็อกเทล “สี่คูณร้อย” สูงสุดในไทยคือ 178,116 คน คิดเป็น 25.4 ต่อประชากรพันคน รองลงมาคือ กรุงเทพฯ 159,296 คน คิดเป็น 37 ต่อประชากรพันคน สำหรับสูตร 4x100 มาจาก 100 บาท เสพได้ 4 คน การเสพใบกระท่อมในรูปแบบน้ำผสมจะได้รับสารเสพติดมากกว่าการเคี้ยวใบสด เพราะปริมาณการเสพมากกว่า มีรายงานพบผู้ป่วยไส้เน่า อาเจียนเป็นเลือดจากการเสพสี่คูณร้อยปริมาณมากเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
“มีเคสผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้ามารักษาที่คลินิกบำบัดสารเสพติด สุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง เนื่องจากฤทธิ์ของสารเสพติดที่ไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท จึงจำเป็นต้องจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความพร้อมในการให้บริการบำบัดสารเสพติดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ใบกระท่อมมีประโยชน์ช่วยลดความดัน ไขมัน น้ำตาลได้ แต่การใช้ใบกระท่อมผลที่ได้มีทั้งด้านบวกและลบ ไม่สามารถใช้ได้ปลอดภัย 100% แต่หากมีการวิจัยรับรองประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ได้” พญ.สรสพร กล่าว
ด้าน ศ.วิกนาสิงงาม บาราสิงงาม จาก มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ มาเลเซีย (Prof. Vicknasingam Barasingam, UniversitiSains Malaysia) กล่าวว่า มาเลเซียมีกฎหมายควบคุมการใช้ใบกระท่อม เนื่องจากใบกระท่อมยังเป็นสารเสพติดอันตราย ปัจจุบันยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการใช้ใบกระท่อมและกัญชาในทางการแพทย์จากองค์กรในระดับนานาชาติที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงและเป็นแนวทางในการควบคุมและใช้ใบกระท่อมและกัญชาเพื่อการบำบัดรักษาทางการแพทย์โดยเฉพาะงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชนที่น่าเชื่อถือพอ ทั้งนี้ ไทยและมาเลเซียในฐานะประเทศที่มีผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ใบกระท่อมมากกว่าประเทศอื่นในขณะนี้ จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ติดตาม ผู้ป่วยและศึกษาวิจัยผลกระทบเชิงสุขภาพจากการใช้สมุนไพรทั้งสองชนิดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป