มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด (Substance Abuse Academic Foundation, SAAF) ร่วมกับ สมาคมความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการลดอุปสงค์ต่อยาเสพติด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การเสพติด (Thailand Addiction Scientific Conference) โดยมีนักวิชาการนานาชาติเข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จและความท้าทายในการควบคุบยาสูบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ผ่านมาตรการทางกฏหมาย มาตรการทางสังคมและอื่น ๆ
โดย ดร.เจรามิยาห์ ม็อค (Jeremiah Mock, Ph.D.) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา นำเสนองานศึกษาในหัวข้อปัญหาการเสพติดสารนิโคตินในกลุ่มวัยรุ่นของเมืองมาริน (Marin County) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ว่า สารนิโคตินบ่อนทำลายความสัมพันธ์ที่ดีของครูและนักเรียน และยังมีอานุภาพเสพติดสูงถึง 68% เมื่อเทียบกับสารเสพติดอื่น ๆ อย่างแอลกอฮอล์ (23%) และโคเคน (21%) ทำให้เลิกยาก ผลทางวิทยาศาสตร์นี้ ไม่ได้นับรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า แต่เป็นที่คาดการณ์ว่า สารนิโคตินมีส่วนทำให้อัตราการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มทั้งนักเรียนมัธยมปลายสหรัฐ และกลุ่มผู้ใหญ่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
ดร.ม็อค ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือบริษัทบุหรี่ข้ามชาติลงทุนมหาศาลด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ให้มากที่สุด และการปรับภาพลักษณ์องค์กร (Rebranding) ของบริษัทยาสูบให้เป็นรู้จักในฐานะ “ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด” (Harm Reduction Company) เช่น บริษัท ฟิลิป มอร์ริส (Philip Morris) บริษัทผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่สัญชาติอเมริกันรายใหญ่ที่พยายามปรับภาพลักษณ์องค์กรไปใช้ชื่อว่า Altria ซึ่งแท้จริงแล้วคือบริษัทแม่ของ ฟิลิป มอร์ริส
“วัตถุประสงค์หลักของการวิจัยและพัฒนาและปรับภาพลักษณ์องค์กรของบริษัทบุหรี่ เพื่อทำการตลาดเชิงรุกและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมปลายขึ้นไป เพื่อสร้างการรับรู้ที่ผิดว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าปกติไม่มีพิษภัย และมีแนวโน้มสูงว่าจากนี้ไป บริษัทบุหรี่ข้ามชาติทั่วโลกจะมุ่งพัฒนาธุรกิจ สร้างการตลาดและการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าไปในทิศทางเดียวกัน” ดร.ม็อค กล่าว
ดร.ราเกซ กุปตา (Dr. Rakesh Gupta) ประธานและผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อการศึกษาและวิจัยด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจันดิกา แคว้นปัญจาบ อินเดีย (President & Director of Public Health, Strategic Institute for Public Health Education & Research (SIPHER) & Visiting Faculty, University Institute of Applied Health Sciences (UIAHS), Chandigarh University) นำเสนอบทเรียนความสำเร็จและความท้าทายในการรับมือกับการตลาดเชิงรุกของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าว่า ประเทศอินเดียออกกฎหมายห้ามผลิต จัดจำหน่าย ส่งออก นำเข้า การขนส่ง การกระจายสินค้าหรือกักตุนสินค้า รวมถึงการโฆษณาเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความพยายามในการควบคุมและลดขีดความสามารถและการเติบโตของตลาดบุหรี่ไฟฟ้า และที่สำคัญคือลดโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและผลกระทบในกลุ่มเยาวชน ปัจจัยหลักที่ทำให้อินเดีย สามารถผลักดันกฏหมายได้สำเร็จเพราะภาครัฐในฐานะผู้ออกนโยบายให้ความสำคัญ และพร้อมทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานวิจัยเชิงวิชาการ และการทำงานร่วมกับภาคสังคมในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจัง เมื่อออกกฎหมายแล้วก็จำเป็นต้องติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพที่สุดด้วย หากพบผู้กระทำความผิด ก็ต้องนำมาดำเนินคดีและรับโทษ โดยผู้ฝ่าฝืนผลิต จำหน่าย ส่งออก นำเข้า กระจายสินค้าเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับโทษจำคุก 1 ปี
ดร.กุปตา กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมการซื้อขายผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นเรื่องท้าทายยิ่ง จำเป็นต้องใช้มาตรการทางสังคมเพื่อร่วมรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งก็คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เห็นพิษภัยของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยต้องรู้จักใช้สื่อโซเชียลเพื่อช่วยรณรงค์ในทุกรูปแบบ เพราะเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายนักสูบหน้าใหม่ได้ง่ายที่สุด
ด้าน ศ.ชี่ ปาง เหวิน สถาบันวิจัยสาธารณสุขแห่งไต้หวัน (Professor Chi Pang Wen, National Health Research Institute Taiwan) กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการ จำเป็นต้องสื่อสารกับสังคมให้รับรู้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ลดอันตรายจากสารเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า มีอันตรายยิ่งกับร่างกายของทั้งผู้สูบ และผู้คนรอบข้าง งานศึกษายังบ่งชี้ด้วยว่า มีแนวโน้มสูงว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมาเป็นผู้ที่สูบบุหรี่แบบปกติด้วย ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและทำให้เป็นอันตรายกับร่างกายและสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ งานศึกษาพบว่า การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศกลุ่มเอเชีย เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น ไทย อยู่ที่ 2% ของประชากรในประเทศ ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ การทำงานควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเชิงรุกจึงเป็นเรื่องจำเป็นและทำได้จริง
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ไทยยังมีการแพร่กระจายของบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนน้อย โดยอยู่ที่ประมาณ 0.14% หรือราว 78,742 ครัวเรือน จากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าตกใจที่กลุ่มตัวอย่างเยาวชนอายุ 14-17 ปี มีการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 6.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับสถิติการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของกลุ่มเยาวชน จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียนในโรงเรียนซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 5.8%
“ไทยเกิดปรากฏการณ์ข่าวปลอมเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แพร่ระบาดอยู่ในช่องทางออนไลน์มากมาย สร้างความเข้าใจผิด ๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง จำเป็นที่ต้องสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับกลุ่มเยาวชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือสายเลิกบุหรี่ 1600 กับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นเรื่องจำเป็น” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว