“รัฐมนตรีรักษาการ” ตอนนี้ก็ไม่ต่างจาก “คนรอเกษียณ” การให้อำนาจแต่งตั้งปลัดกระทรวง ก็ไม่ต่างจาก “ทิ้งทวน” เช่นกัน เรื่องอำนาจแต่งตั้งปลัดกระทรวงว่า ตามหลัก “กฎหมาย” อาจจะใช่ แต่ตามหลัก “มารยาท” แล้วไม่น่าใช่
มีรายงานข่าวว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้สวมบท “คัมภีร์กฎหมายประเทศไทย” รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันก่อนถึงแนวทางการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในช่วงที่ยังเป็น “รัฐบาลรักษาการ” และยังไม่มี ครม.ชุดใหม่
เพราะในช่วงเดือน ก.ย.2566 เป็นช่วงที่ข้าราชการจะเกษียณอายุราชการ ตามปฏิทินงบประมาณ ที่จะเริ่มต้นปีใหม่ในเดือน ต.ค.ของทุกปี
เท่ากับว่า ข้าราชการที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2566 คือเกิดก่อนวันที่ 1 ต.ค.2506 ต้องเกษียณอายุราชการในปีนี้
โดยในปีนี้ มี “ปลัดกระทรวง” เกษียณอายุราชการ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
น่าสนใจว่า “อาจารย์วิษณุ” แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการในกระทรวงที่มีปลัดกระทรวงเกษียณอายุราชการ สามารถเสนอแต่งตั้ง “ปลัดกระทรวงคนใหม่” เพื่อมาทำหน้าที่แทนปลัดกระทรวงที่เกษียณอายุเพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ เมื่อ ครม. พิจารณาแล้วเสร็จก็จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาอีกครั้ง
พร้อมระบุด้วยว่า สามารถแต่งตั้งได้เฉพาะปลัดกระทรวงที่จะเกษียณเท่านั้น ไม่สามารถแต่งตั้งอธิบดีในกรมต่างๆที่จะเกษียณอายุราชการได้ เพราะต้องให้ปลัดเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่มาตั้งอธิบดีในตำแหน่งที่ว่างอยู่
“รองฯวิษณุ” ขยายความด้วยว่า ที่เสนอแนวทางนี้ให้ ครม.เห็นชอบ เนื่องจากอำนาจการเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงเป็นของรัฐมนตรี ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับรองลงไปนั้นเป็นอำนาจของปลัดกระทรวง จึงไม่ควรให้ปลัดที่จะเกษียณอายุเป็นคนที่แต่งตั้งอธิบดีไว้ในลักษณะ “ทิ้งทวน”
ดูเหมือนหลงลืมไปว่า รัฐมนตรีในตำแหน่งตอนนี้เป็น “รัฐมนตรีรักษาการ” ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่
และเชื่อว่า “ส่วนใหญ่” จะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเดิมอีก
“รัฐมนตรีรักษาการ” ตอนนี้ก็ไม่ต่างจาก “คนรอเกษียณ” การให้อำนาจแต่งตั้งปลัดกระทรวง ก็ไม่ต่างจาก “ทิ้งทวน” เช่นกัน
เรื่องอำนาจแต่งตั้งปลัดกระทรวงว่า ตามหลัก “กฎหมาย” อาจจะใช่ แต่ตามหลัก “มารยาท” แล้วไม่น่าใช่
เป็นที่รู้กันนับตั้งแต่ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ รัฐมนตรี รวมทั้ง ครม. “รักษาการ” ไม่ควรใช้อำนาจหน้าที่อะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ๆทั้งสิ้น ซึ่งต้องไปขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกชั้นหนึ่ง
โดยเฉพาะการแต่งตั้งปลัดกระทรวง เพราะอีกไม่นาน “รัฐบาลใหม่-รัฐมนตรีคนใหม่” ก็จะเข้ามารับไม้ต่อแล้ว จึงควรให้ “คนใหม่” ใช้อำนาจเลือกคนทำงานให้ตรงตามสเปก เพื่อการทำงานที่เข้าขากัน ขืนให้ “คนเก่า” ตั้งไว้ไม่ถูกใจ มาเด้งกันทีหลัง ต้องหาตำแหน่งให้นั่งวุ่นวายอีก แถมอาจมีคดีฟ้องร้อง ไม่เป็นอันทำงานกันพอดี
ส่วนที่ห่วงว่า การบริหารงานของหน่วยงานราชการจะไม่ต่อเนื่อง ก็เหมือน “อาจารย์วิษณุ” หลงลืมไปอีกว่า ระบบราชการมีการแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งไว้ตามลำดับอยู่แล้ว
ก็หวังว่าจะไม่ได้เห็นการตั้งปลัดกระทรวง “ทิ้งทวน” อย่างที่ “กูรูวิษณุ” เปิดช่องไว้ให้ในช่วง “รัฐบาลรักษาการ” ให้เป็นขี้ปากชาวบ้าน
เพราะแว่วว่าบางกระทรวง “ทั่นรักษาการ” เล็งที่ฉวยโอกาสโค้งสุดท้ายดัน “เด็กในคาถา” ขึ้นไปนั่งปลัดกระทรวง นัยหนึ่งก็เพื่อตอบแทนที่รับใช้กันมา อีกนัยหนึ่งก็ให้เคลียร์ “งาน” ให้เป็นไปตามที่ “ล็อก” ไว้แล้ว
หรือบางกระทรวงก็หวังวางคนที่ไว้ใจได้ คอยเฝ้าไม่ให้ใครไปเก็บกวาด “ขยะ” ที่ซุกไว้ใต้พรม
ฟังแบบนี้ยิ่งไม่ควรให้ “ทั่นรักษาการ” ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายใครทั้งสิ้นในช่วงนี้
ก็งบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นล้านล้านบาท ยังต้องรอรัฐบาลใหม่มาทำ กะแค่ตั้งปลัดกระทรวงไม่กี่คนคงรอได้เหมือนกัน.