xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 รองรับสินค้าเหลว-ก๊าชธรรมชาติ 14 ล.ตัน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จ.ระยอง เตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้าเหลวและก๊าชธรรมชาติ 14 ล้านตัน/ปี ในอนาคต

วันนี้ (9 ส.ค.) เวลา 14.40 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ รวมทั้งผู้บริหารหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้เดินทางตรวจราชการเพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ณ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พร้อมกล่าวมอบนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่โครงการฯ ยกระดับระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ควบคู่การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงานของประเทศ โดยนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมและรับฟังรายงานสรุปภาพรวมการดำเนินโครงการ โดย รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งโครงการเกิดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC Project) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และท่าเรือก๊าซ (Superstructure) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวของท่าเรือ มาบตาพุดที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเพื่อให้มีท่าเรือสาธารณะบริการมากขึ้น

สำหรับการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท ช่วงที่ 2 การลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ (Superstructure) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปี ข้างหน้า

โดยขณะนี้โครงการฯ ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 มีความก้าวหน้าในภาพรวม คิดเป็นร้อยละ 58.42 พร้อมด้วยการวางมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การจัดทำบ่อกักเก็บตะกอนเพื่อใช้ในการตกตะกอน (Silt) การตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล การตรวจสอบนิเวศวิทยาทางทะเล ขณะที่ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม โครงการฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้าง ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน หน่วยงานราชการ หน่วยงานของโครงการ มีส่วนร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่ได้ตรวจเยี่ยมวันนี้ เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมของโครงการฯ ก็มีความสุขและชื่นใจ พร้อมให้กำลังใจในการทำงานของทุกภาคส่วนที่ได้ปฏิบัติงาน ผสานความร่วมมือจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยครั้งนี้ถือเป็นการติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก ซึ่งในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาคภูมิใจในประเทศไทยที่ก้าวหน้าต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้กำชับเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงหลักการ “เคารพ คุ้มครอง เยียวยา” เป็นสำคัญ เพื่อดูแลด้านความปลอดภัย การเฝ้าระวัง ดูแลภาคประชาชนในพื้นที่ และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางต่อไปยังโครงการนำพลังงานความเย็นเหลือใช้จากการเปลี่ยนสถานะของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชเมืองหนาว ต่อยอดด้านการเกษตรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ณ อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง


กำลังโหลดความคิดเห็น