xs
xsm
sm
md
lg

"กฤต ชนนพัฒฐ์"ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งคาบสมุทรสทิงพระอย่างยั่งยืน แนะ ทำแนวกันคลื่นให้เกิดแนวชายหาดใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(9 ส.ค.)นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.สงขลา เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งของพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนมกราคม จะเป็นช่วงมรสุม ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะเกิดปัญหาหนักมาก โดยชายฝั่งคาบสมุทรสทิงพระ มีพื้นที่ความยาวประมาณเกือบ 70 กิโลเมตร ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่รุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของประชาชน และภาครัฐเสียทัศนียภาพ ส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยว โดยอัตราการกัดเซาะอยู่ประมาณ 5 เมตร ถือว่ารุนแรง ซึ่งบริเวณชายฝั่งมีความสำคัญ ทั้งพื้นที่อาศัย อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และพื้นที่อนุรักษ์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

นายชนนพัฒฐ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งเกิดจากปัจจัย 2 ข้อใหญ่ คือ การกระทำของมนุษย์ในการพัฒนาชายฝั่ง เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึกการบุกรุกป่าชายเลน การสร้างเขื่อนการสูบน้ำบาดาลทำให้ชายฝั่งทรุดตัวลง ดังนั้นผลจากการกัดเซาะชายฝั่งมีผลต่อเศรษฐกิจ ริมชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ สูญเสียความสมบูรณ์ สวยงามของธรรมชาติ ส่งผลต่อการท่องเที่ยว การดำรงชีวิต การสูญเสียที่อยู่อาศัย บ้านเรือนเสียหาย และเกิดจากธรรมชาติ คือ คลื่นลมรุนแรงผิดปกติ ลมมรสุมช่วง โดยการกัดเซาะในช่วงดังกล่าว เกิดจากน้ำขึ้น-น้ำลง การเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล กระแสน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตาม ธรรมชาติ ทิศทางของคลื่นเปลี่ยนแปลง และปริมาณฝนตกที่มากกว่าปกติ

นายชนนพัฒฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระเป็นปัญหาวงกว้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแบบยั่งยืนถาวร อย่างเช่น พื้นที่เขต 4 จังหวัดสงขลา คือ พื้นที่ตำบลท่าบอน กลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งของตำบลท่าบอนระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร ซึ่งในช่วงมรสุมจะมีบ้านเรือนประชาชนพังเสียหายทุกปีต่อเนื่องมานาน

"ผมขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ลงไปดูปัญหาตรงนี้ด้วย เพราะปัญหาเรื่องน้ำกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงต้องทำการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนซึ่งผมได้ทำการปรึกษากับชาวบ้าน โดยชาวบ้านมีความต้องการที่จะให้ภาครัฐทำแนวกันคลื่น หรือที่เรียกว่าเขื่อนหินทิงกลางทะเล เพราะจะทำให้เกิดแนวชายหาดใหม่ และชาวประมงยังสามารถจอดเรือชาวประมงได้"นายชนนพัฒฐ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น