xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หนุนญัญติ"ไผ่ ลิกค์"เร่งรัดการบังคับใช้ กม.ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(8 ส.ค.)ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ที่เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ระหว่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการตั้งขึ้น

"ผมเห็นด้วยกับท่านไผ่ ลิกค์ ที่ระบุว่า โทษของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพ ยังเป็นที่สงสัยว่าเป็นโทษต่อร่างกายมากน้อยเพียงไร และยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีขององค์การอนามัยโลก ที่ยืนยันว่า ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ยังไม่มีใครรู้ และการจะเคาะว่าอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามีมากน้อยเพียงไร ต้องกลับไปศึกษาบทเรียนจากอันตรายของบุหรี่ธรรมดา"ศ.นพ.ประกิต

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า บุหรี่ธรรมดาเริ่มแพร่หลายช่วงต้น ค.ศ. 1900 หลังจากมีการใช้เครื่องจักรผลิตบุหรี่มวนเป็นอุตสาหกรรม มีการตลาด การโฆษณาที่ทำให้การสูบบุหรี่แพร่ระบาดในอเมริกาและลามไปทั่วโลก ช่วงปี ค.ศ. 1930 นักสถิติเริ่มพบอัตราการเป็นมะเร็งที่เพิ่มขึ้น และแพทย์มีการผ่าตัดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
จนอีก 34 ปีต่อมา ค.ศ. 1964 จึงมีการประกาศอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดและโรคเรื้อรังอื่น ๆ แต่บริษัทบุหรี่ก็ไม่ยอมรับและโต้แย้งการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอเมริกา จน อีก 42 ปีต่อมา ปี ค.ศ. 2006 ศาลในอเมริกาจึงมีคำตัดสินว่า บริษัทบุหรี่มีการปกปิด หลอกลวง คนอเมริกันถึงอันตรายของบุหรี่มวนอย่างเป็นระบบ มีความผิดฐานองค์กรอั้งยี่ และสั่งห้ามปฏิเสธถึงอันตรายของการสูบบุหรี่อีก

"จะเห็นว่าบุหรี่ธรรมดา ใช้เวลาถึง 60 ปี หลังจากที่การสูบบุหรี่แพร่หลาย จึงมีการประกาศว่าบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอดและโรคร้ายแรงอื่น ๆ และใช้เวลาอีก 40 ปี กว่าที่ศาลจะลงโทษห้ามบริษัทบุหรี่บิดเบือน หลอกลวงสังคมถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อไปอีก หันกลับมาดูบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเพิ่งระบาดในอเมริกาเมื่อ 10 ปีเศษมานี้เอง โดยอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเท่ากับ 1.5% ปี ค.ศ. 2011 และเพิ่มขึ้นเป็น 27.5% ปี ค.ศ.2019 และการระบาดในประเทศอื่น ๆ เกิดขึ้นหลังอเมริกา บุหรี่ไฟฟ้าจึงมีการสูบแพร่หลายเมื่อ 10 ปีกว่ามานี้เอง และรายงานถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าทะยอยมีออกมาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา"ศ.นพ.ประกิต กล่าว

โดยรายงานที่ทบทวนงานวิจัย 192 ชิ้น เมื่อ ค.ศ. 2019 ที่ศึกษาถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อปอด สรุปว่า หลักฐานเท่าที่มี ยังไม่สามารถสรุปว่า อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อปอด น้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาหรือไม่ ขณะที่รายงานอีกชิ้นหนึ่งที่ทบทวนงานวิจัย 133 ชิ้น ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา

ศ.นพ.ประกิต กล่าวย้ำว่า เราจึงต้องติดตามงานวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีการศึกษากันทั่วโลก และยึดแนวทางที่องค์การอนามัยโลกเสนอแนะในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
ให้มีกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ พ.ศ. 2557-58 แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เกิดการระบาด โดยเฉพาะในเด็กนักเรียนและวัยรุ่น จึงอยากฝากให้กรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น ให้ความสำคัญกับการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้เป็นลำดับแรก ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพราะไม่ว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการห้ามขาย หากการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศไทยก็จะไม่ได้รับประโยชน์เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกการห้ามขายตามที่คิดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น