เพจ "ผู้หญิงท่องโลก" โพสต์เชิญชวนทำความรู้จัก "สันติภาวัน" สถานที่พำนักพระอาพาธระยะท้าย ว่า เคยไหมตื่นมาก็คิดไปถึงอนาคต ว่าแก่แล้วใครจะมาดูแลเรา โดยเฉพาะยามเจ็บไข้ได้ป่วย
ยิ่งตัวเลขอายุเพิ่มขึ้น ความวิตกก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แถมออกแนวเศร้าสร้อยผสมดราม่า ทั้งที่จริงๆ เรื่องนี้ยังมีทางออก ลองไปดูกัน
ฟ้าช่วงนี้ฉ่ำฝน บางวันก็โปรยปรายลงมาให้เปียกปอนกันไปทั่ว
บรรยากาศฝนพรำทำให้เราเย็นสบาย มองไปรอบตัวมีแต่สีเขียว สดชื่น ไม่ร้อนรนราวกับโลกจะแตกเหมือนช่วง ต้นปีที่ผ่านมา
จำได้ว่าช่วงร้อนกระหน่ำแบบพีคสุด ตอนนั้นอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และมีโอกาสไปที่ศูนย์สันติภาวัน สถานที่พำนักภิกษุอาพาธระยะท้าย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเกือบสามปีก่อน ช่วงนั้นภารกิจของศูนย์สันติภาวันเพิ่งเริ่มต้น
ศูนย์สันติภาวันเป็นสถานที่ดูแลและอุปัฏฐากพระภิกษุอาพาธระยะท้ายที่อาพาธหนักหรือติดเตียง ไม่ใช่สถานพยาบาลที่มีหน้าที่รักษาโรคให้อาการดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยทิ้งขว้าง เป็นการรักษาแบบที่ว่า ช่วยดูแลแบบประคับประคอง ไม่ปล่อยทอดทิ้งให้ว้าเหว่ โดดเดี่ยว เดียวดาย โดยมีพระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต เป็นผู้อำนวยการศูนย์
พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต เริ่มทำเรื่องการดูแลพระภิกษุอาพาธ มาตั้งแต่ช่วงที่อยู่วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากเห็นถึงปัญหาว่า ในประเทศไทยมีพระภิกษุจำนวนมาก และพระอาพาธหนักที่ถูกทอดทิ้งก็มีจำนวนมากเช่นกัน โรงพยาบาลเองก็ไม่มีกำลังจะรับไว้ทั้งหมด จะส่งกลับไปให้วัด วัดก็ไม่มีคนดูแล ครั้นจะให้ญาติพี่น้องมารับไปดูแลก็เป็นไปได้ยาก เพราะท่านออกจากครอบครัวมานานมากแล้ว
ที่สำคัญ ส่วนใหญ่พระอาพาธจำเป็นต้องลาสิกขา เพราะการดูแลพระทำได้ยากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีเรื่องของพระธรรมวินัย และวัตรปฏิบัติที่แตกต่าง
พระอาจารย์วิชิตบอกว่า พระส่วนใหญ่มาบวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติ และต้องการตายดี เพื่อไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่า จึงคิดว่าเราน่าจะมีพื้นที่ สำหรับพระที่ท่านประสงค์จะมรณภาพอย่างสงบ โดยมีพระด้วยกันคอยดูแลระยะสุดท้าย
โครงการนี้เริ่มต้นที่วัดป่าสุคะโต แต่เนื่องจากสถานที่คับแคบ และพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำกันจริงจัง ประกอบกับมีโยมยินดีบริจาคที่ดินที่เป็นสวนลำไยและสวนผลไม้ที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรีในพื้นที่ 15 ไร่ พร้อมสิ่งก่อสร้างคือเรือนสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้มาให้ ศูนย์สันติภาวันจึงเริ่มต้นขึ้น
หลังจากศูนย์สันติภาวัน ดำเนินงานมา 3 ปีแล้ว ก็เริ่มมีประสบการณ์ เริ่มมีคนรู้จัก มีจิตอาสามาช่วยงานเพิ่มขึ้น แต่อาคารเดิมซึ่งใช้เป็นสถานที่ดูแลภิกษุอาพาธ เสื่อมโทรมลงไปตามกาลเวลา รองรับการใช้งานได้ไม่เต็มที่นัก เพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัด พระที่ป่วย กับพระที่ดูแล ต้องอยู่ร่วมกัน แยกได้แค่ชั้นบนกับชั้นล่าง
ล่าสุดจึงมีโครงการจัดสร้างอาคารใหม่ขึ้นให้สามารถรองรับพระอาพาธได้ขนาด 10-12 เตียง จากเดิมที่รับได้ 6-8 เตียง มีพื้นที่เว้นระยะห่าง และจิตอาสาจะได้มีที่พักในการมาดูแลพระได้สะดวกขึ้น
“6-8 เตียงเองเหรอคะ” พวกเราถาม แอบคิดว่าดูจำนวนน้อยๆ ชอบกล
พระอาจารย์เลยบอกว่า ให้โยมนึกภาพเอานะว่า บ้านหลังหนึ่ง มีพ่อ หรือแม่ หรือญาติพี่น้องที่เจ็บป่วยอยู่แค่คนเดียว ก็ยังดูแลกันหนักหนาสาหัส แล้วนี่ เราต้องดูแลพระอาพาธโดยเฉลี่ย 4- 6 คนพร้อมๆ กัน
ฟังพระอาจารย์พูดแล้วเห็นภาพเลยทีเดียว
พระอาจารย์วิชิตยังบอกด้วยว่า ต่อไปศูนย์สันติภาวันยังสามารถเป็นพื้นที่ตัวอย่าง หากวัดต่างๆ อยากจะทำพื้นที่ดูแลพระอาพาธบ้างก็มาดูที่นี่ได้ จะได้เห็นภาพการดูแลจัดการและนำไปปรับใช้ในวัดของท่านได้ พระอาพาธก็ไม่จำเป็นต้องมาที่สันติภาวัน สอยดาวเท่านั้น
บรรยากาศของศูนย์สันติภาวันค่อนข้างร่มรื่น มองไปเห็นทิวเขาทอดตัวยาวอยู่เบื้องหน้า สถานที่กว้างขวาง สะอาดสะอ้าน เพราะมีโยมอาสามากวาด ตัดหญ้า ดูแลต้นไม้ให้เป็นระเบียบน่าอยู่ ตามต้นไม้มีข้อคิดทางธรรมช่วยกระตุกต่อมสติคนอ่านเป็นอย่างดี ถ้าใครเข้าไปช่วงที่ผลไม้ออกผล พระอาจารย์จะให้คนเก็บมาแจกกันกิน ครั้งแรกที่ไปตรงกับช่วงลำไยออกผล ส่วนครั้งที่แล้ว มีมะยงชิด ลูกโต รสชาติหวานอร่อย กินกันเพลินแถมได้เอากลับมาฝากเพื่อนๆ อีก เรียกว่าอิ่มกาย สบายท้อง และไม่ต้องทุกข์ใจแบบครบครัน
ไปคราวนี้เรายังได้มีโอกาสคุยกับทั้งพระและฆราวาสจิตอาสาที่มาช่วยกันดูแลหลวงน้า หลวงตาด้วย
พระอาจารย์ฌอน โชติโก เป็นพระฝรั่ง ตอนคุยกับท่าน ท่านพูดภาษาไทยได้ สำเนียงแปร่งๆ เล็กน้อย บางคำยังนึกไม่ค่อยออก พวกเราเลยหวังดี บอกท่านว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษา คำไหนนึกไม่ออกให้ใช้ภาษาอังกฤษได้ ท่านเลยหันมาถามว่า จะให้อาตมาพูดเป็นภาษาอีสานไหม
หลวงพี่ฌอนเดินทางมาประเทศไทยและไปอยู่ภาคอีสานมาหลายปี ท่านเลยถนัดภาษาอีสานพอได้ยินเรื่องของศูนย์สันติภาวัน ท่านก็เดินทางที่นี่ มาเป็นพระจิตอาสาคอยช่วยดูแลพระอาพาธองค์อื่นๆ
ช่วงบ่ายๆ ท่านก็พาหลวงตาใส่รถวีลแชร์เข็นไปรอบๆ ให้ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ มองเห็นสีเขียวจากต้นไม้ ใบหญ้า และรับแสงแดดอ่อนๆ ท่านบอกว่า เป็นการมาเพื่อปฎิบัติดูแลพระสงฆ์ของพระพุทธเจ้า การได้มีโอกาสดูแลพระอาพาธระยะท้ายเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน
ส่วนหลวงพี่อีกองค์ “พระชาตรี ปภสฺสโร” บอกว่า การดูแลพระภิกษุอาพาธ ก็ทำให้ได้เห็นความเป็นจริงของชีวิต ถ้าเราดูแลท่านแล้วปรับเปลี่ยนเป็นความรู้ เป็นปัญญา มันก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
ไม่ใช่มีแต่พระเท่านั้น แต่เรายังได้คุยกับน้องปุณณ์ บูรณไมตรี น้องเป็นนักเรียนม.4 ช่วงนี้ปิดเทอมต้องมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม คุณพ่อเลยแนะนำให้มาที่นี่ อาจจะแตกต่างจากสถานที่ของเด็กวัยเดียวกัน แต่น้องปุณณ์ก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจรังงอนแต่อย่างใด น้องบอกว่า มาเป็นผู้ช่วยดูแลพระอาพาธตั้งแต่เช็ดตัว อาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนยา ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ และก็มีความรู้สึกดีที่ได้ทำ
ขณะที่พี่หนึ่ง หรือสมพงษ์ ดิษยุณยะ จิตอาสาอีกคนหนึ่งก็บอกว่า การได้มาดูแลพระภิกษุอาพาธ ก็เหมือนได้มาดูแลญาติผู้ใหญ่ ได้ฝึกอารมณ์ของตัวเอง เพราะเวลาดูแลกันไปนานๆ เราก็จะได้พบว่า พระทั้งหลายก็มีช่วงอารมณ์ที่เปลี่ยนไป พี่หนึ่งใช้คำน่ารักทีเดียวว่า ท่านงอแง ท่านอารมณ์ไม่ดี ก็ทำให้เราได้ฝึกใจเราไปด้วย อีกอย่างท่านทรมานทางกายแล้ว ก็ไม่อยากให้ทรมานใจ อยากให้จากไปแบบสบาย จิตใจสงบ
ถ้อยคำที่บอกเล่าจากปากทั้งพระ ทั้งฆราวาสที่มาเป็นจิตอาสา ทำให้อากาศร้อนรอบกาย คลี่คลายกลายเป็นความเย็นสบายภายในใจอย่างบอกไม่ถูก
แน่นอนว่า ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เราเห็นนั้น มีแต่ลดทอนพลังงานดีภายในใจเราลงไปทุกวัน จนทำให้เราลืมคิดไปว่า เรื่องราวเหล่านั้น เป็นแค่ความผันแปร ไม่แน่นอน เวลาเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงได้
แต่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่เห็นอยู่ตรงหน้าต่างหากเป็นความจริงแท้ที่เราทุกคนต้องเจอแน่นอน
คนส่วนใหญ่ไม่ได้กลัวความตาย แต่กลัวที่จะต้องถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวมากกว่า
งานของศูนย์สันติภาวัน ทำให้เราคิดได้ว่า คงดีไม่น้อย ถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้นในทุกพื้นที่ เป็นสังคมแห่งการดูแลเกื้อกูลกันในระยะท้ายของชีวิต
พระสงฆ์ในวัด ในชุมชน ยามมีชีวิตอยู่ท่านเป็นที่พึ่งให้เราได้ตั้งแต่เกิด บวช แต่งงานและตาย สารพัดเรื่องที่เป็นวาระสำคัญของชีวิตเรา ทุกคนพากันนิมนต์พระไปทำพิธีหมด ยามทุกข์ก็หันหน้าเข้าวัด ครั้นท่านเจ็บป่วย ก็ควรจะมีพื้นที่ในสถานที่ที่ท่านคุ้นชิน มีพระในวัดที่คุ้นเคย มีคนในชุมชนที่คุ้นหน้ามาช่วยกันดูแล ประคับประคองกันไป
หากเป็นคนทั่วไป ความเกื้อกูลของญาติมิตร คนรอบตัว ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่เหว่ว้า โดดเดี่ยว ก็เป็นเรื่องที่นำมาปรับใช้ได้เช่นกัน ไม่ใช่แค่นำส่งโรงพยาบาลแล้วจบเรื่อง
ยามมีชีวิต หากได้อยู่อย่างสบายใจ ยามต้องจากไกล ก็จากไปอย่างอบอุ่น เท่านี้ก็พอเพียงแล้ว
ในความเป็นจริงพวกเราทุกคนมีส่วนร่วมสร้าง “สันติภาวัน” ที่นำเราไปสู่ความสุขสงบได้ไม่ยากนัก
หากมีกำลังกาย ลองสละเวลาเป็นจิตอาสา เพื่อฝึกจิตในพื้นที่ใกล้ตัว
หากมีกำลังความคิด ช่วยกันเผยแพร่แนวคิด สันติภาวัน ให้เกิดขึ้นทุกหนแห่ง
สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ได้ที่ https://santibhavan.or.th หรือ Facebook Fanpage :สันติภาวัน
แต่ถ้าใครต้องการสนับสนุนการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ก็ร่วมบุญกันได้ที่ โครงการก่อสร้างศูนย์สันติภาวัน มูลนิธิสันติภาวัน ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกรวย เลขที่บัญชี 143-1-64326-6
น่าแปลกว่า เรื่องราวที่ได้พบเห็นที่สันติภาวัน ไม่ได้ทำให้การจากลา เป็นความโศกสลด รันทด หดหู่ แต่อย่างใด
ตรงกันข้ามกลับทำให้รู้สึกว่าโลกนี้ยังมีความหวัง
โลกนี้ยังเป็นสุขได้ด้วยพลังแห่งความเมตตาและเกื้อกูล
บอกแล้วว่า คนส่วนใหญ่ ไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวความเดียวดายก่อนจากไปมากกว่า
และ เรื่องนี้ยังมีทางออกที่ทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นพระอาพาธหรือฆราวาสก็ตาม
# สันติภาวัน
#สถานที่พำนักพระอาพาธระยะท้าย