xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเอกสารหลุด ทร. แก้สัญญาอุ้มเอกชน โครงการจัดซื้อเป้าบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงาน
 “...การแก้ไขสัญญาเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายค่าสิ่งของได้บางส่วนเพื่อบรรเทาสถานการณ์อันยากลำบากของบริษัทถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะแก้สัญญาหรือข้อตกลงและการแก้ไขนั้นไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์...”

นี่คือข้อความสำคัญส่วนหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นบันทึกข้อความของแผนกพระธรรมนูญ กรมสรรพาวุธทหารเรือ ที่ต่อ นธน.เลขรับ 3/64 ลงวันที่ 24 ม.ค. 64 และกรมสรรพาวุธทหารเรือ ตีตราประทับตามเลขรับที่ 942 ลงวันที่ 3 ก.พ. 64 เวลา 1009 จากนั้นจึงเสนอขึ้นไปตามลำดับชั้นถึงกองทัพเรือ ก่อนจะได้รับการอนุมัติตามที่ร้องขอ

ยังผลให้ บริษัท CCG ของเจ้าแม่เป้าบิน ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ณ วันที่ได้โครงการจัดซื้อระบบเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติ มูลค่าโครงการ 49.8 ล้านบาท ได้รับค่า “สิ่งของบางส่วน” เป็นเงินทั้งสิ้น 47.2 ล้านบาท


ย้อนหลังไป เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กองทัพเรือถูกเปิดโปง ถึง ความไม่ชอบมาพากล ที่ส่อไปในทางทุจริต จากโครงการจัดซื้อระบบเป้าบินแบบไอพ่นอัตโนมัติโดยไม่ซื้อรางปล่อย และ พล.ร.อ.ปกครอง มณธาตุพลิน โฆษกกองทัพเรือออกมาเปิดชื่อบริษัท CCG พร้อมกับชี้แจงว่า ทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้และรางปล่อยของเดิมสามารถปรับปรุงเพียงเล็กน้อย เพื่อใช้กับเป้าบินของใหม่ได้เป็นการประหยัดงบประมาณของทางราชการ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 กำหนดส่งมอบ ภายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 แต่จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่สามารถส่งมอบได้ และเป้าบินทั้ง 3 ลำ ที่กองทัพเรือได้รับ และเก็บไว้ในคลังยังไม่เคยมีการทดสอบการบินขึ้นจากรางปล่อยที่มีอยู่เดิม และอ้างว่าสามารถปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเพื่อใช้งานกับเป้าบินของใหม่ อันเป็นกระบวนการสุดท้ายของการตรวจรับแต่อย่างใด

หรือพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ ตั้งแต่จัดซื้อระบบเป้าบิน และของมาถึงเมืองไทย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนกระทั่งบัดนี้ กองทัพเรือยังไม่เคยทดสอบการใช้งานด้วยการ ปล่อยเป้าบินขึ้นสู่ท้องฟ้าแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อระบบเป้าบินดังกล่าว สิ่งที่กองทัพเรือจะได้รับ ประกอบไปด้วย เป้าบินพิสัยกลาง จำนวน 3 ลำ ชุดปรับปรุงแท่นปล่อย 1 ชุด และโปรแกรมสำหรับการใช้งานและการฝึกจำลอง หรือ UAT Simulator 1 ชุด ซึ่งกองทัพเรือจ่ายเงินหลังแก้สัญญาไปแล้วทั้งสิ้น 47.2 ล้านบาท คงเหลืออีก 2.4 ล้านบาท ที่จะต้องจ่ายให้บริษัทหลังทำการทดสอบเรียบร้อย

แต่ผลการตรวจสอบแท่นปล่อย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยวิศวกรจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า
แท่นปล่อยยังไม่สามารถใช้งานกับเป้าบินทั้ง 3 ลำ ได้

จึงเท่ากับว่ากองทัพเรือสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะสูญเสียงบประมาณไปโดยไม่คุ้มค่า หากชุดปรับปรุงแท่นปล่อยที่ซื้อมา ไม่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงได้จริงตามที่บริษัทกล่าวอ้าง

และเพราะความผิดปกติที่กล่าวมาข้างต้นนี่เอง จึงทำให้โครงการเป้าบินไอพ่นถูกขุดคุ้ย ทั้งจากเพจชื่อดังและสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสื่อสาธารณะ จนภาพของการหากินเป็นขบวนการของผู้ซื้อจ้าง ที่ฝังตัวอยู่ในกรมสรรพาวุธทหารเรือ เริ่มปรากฏชัดมากขึ้นเป็นลำดับ ก่อนจะตามมาด้วยการขยายประเด็นไปสู่การโทรศัพท์ข่มขู่จากคนมีสี เพื่อให้คนที่ครอบครองเอกสารหลักฐานการทุจริตมิให้ เปิดเผยข้อมูล และให้ส่งคืนเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่อาจจะสาวมาถึงตัวผู้ร่วมขบวนการได้ในท้ายที่สุด

หลังเรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ ที่สาธารณชนรับรู้ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ในวันที่ 30 กันยายน จึงสั่งการให้กรมจเรทหารเรือ ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่า โครงการจัดซื้อระบบเป้าบินไอพ่น โดยไม่ซื้อรางปล่อย มีการทุจริตฉ้อฉล อย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกตจริง หรือเป็นเพียงการใส่ร้ายของผู้ที่เสียประโยชน์ จากการจัดซื้อดังกล่าว

แต่ยังไม่ทันที่กรมจเรทหารเรือจะสรุปผลการสอบสวน ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะลงเอยด้วยการ “ฟอกผิด” ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง หรือได้ตัวคนผิดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กลับมีเอกสารที่เป็นหลักฐานสำคัญ หลุดออกมาจากคนในกองทัพเรือที่ต้องการกระชากหน้ากากขบวนการฉ้อฉล โดยเป็นเอกสาร เลขที่ต่อ นธน.เลขรับ 3/64 ที่มีต้นตอจากแผนกพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมาย เสนอถึงกรมสรรพาวุธทหารเรือ เมื่อวันที่ 24 มค. 64


เอกสารดังกล่าว ซึ่งเป็นบันทึกข้อความที่กรมสรรพาวุธทหารเรือ ลงเลขรับไว้ เลขที่ 942 ลงวันที่ 3 ก.พ. 64 เวลา 10.09 มีเนื้อหาจำนวน 4 หน้ากระดาษ บรรยายความถึงโครงการจัดหาเป้าบิน และการดำเนินการ ของบริษัท CCG ซึ่งเป็นคู่สัญญาของกองทัพเรือ ที่ได้มีการติดต่อกับบริษัท AAA ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ผลิต จนกระทั่งมีการส่งเป้าบินจำนวน 3 ลำ มายังประเทศไทย เหลือเพียงขั้นตอนสำคัญคือ ปรับปรุงรางปล่อย และการทดสอบ ซึ่งจะต้องใช้วิศวกรอาวุโสของบริษัท AAA ผู้ผลิตเท่านั้น

แต่ประเด็นที่เป็นหลักฐานชัดเจนว่า กองทัพเรือโดย กรมสรรพาวุธทหารเรือ มีเจตนาให้ความช่วยเหลือ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “อุ้มบริษัทในดวงใจ” ก็คือ ข้อความในหน้า 3 ของเอกสารที่ปรากฏอยู่ใน 4 บรรทัดสุดท้าย อันเป็นข้อพิจารณาเสนอขอแก้ไขสัญญา เพื่อจ่ายเงินให้บริษัท CCG เร็วขึ้น

โดยข้อความ ที่เขียนไว้ ระบุว่า.. การแก้ไขสัญญา เพื่อให้เบิกจ่ายค่าสิ่งของได้บางส่วน เพื่อบรรเทาสถานการณ์อันยากลำบากของบริษัท ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะแก้ไขสัญญาหรือข้อตกลง และการแก้ไขนั้นไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์

จากข้อความดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า บริษัท CCG ประสบปัญหาความยากลำบากเช่นไร ถึงต้องมีการแก้ไขสัญญาจ่ายเงินให้ก่อน ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาที่มีการเสนอให้มีการแก้ไขสัญญานั้น กองทัพเรือยังมิได้มีการทดสอบเป้าบินกับรางปล่อยที่ปรับปรุงแล้วแม้แต่ครั้งเดียว

แต่การจ่ายเงินให้บริษัทเอกชนไปก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถตรวจรับได้ตามสัญญาซื้อขาย ด้วยเหตุผลว่าเพียงเพื่อบรรเทาความยากลำบากของบริษัทเอกชน ก็ไม่ต่างจากการนำเงินภาษีของพี่น้องประชาชนไปอุ้มเอกชนรายเดียว ทั้งๆ ที่ปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นถือเป็นความรับผิดชอบทางธุรกิจการค้าของบริษัท ไม่เกี่ยวกับกองทัพเรือ ในเมื่อบริษัทเอกชนที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ก่อตั้งมาเพียงไม่กี่ปี ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเป้าบินไอพ่นมาก่อน แต่กองทัพเรือกล้าที่จะคัดเลือกให้ทำโครงการมูลค่าสูงถึง 49.8 ล้านบาท บริษัทก็ต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยตนเอง

ขณะที่คำถามต่อมาก็คือ ในเมื่อกองทัพเรือรู้อยู่แล้วว่ามีบริษัทอธิ คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของ บริษัท AAA ในประเทศไทย เหตุใดกรมสรรพาวุธทหารเรือ ถึงไม่ซื้อเป้าบินจากบริษัทดังกล่าว หรือแม้กระทั่งทำการสอบราคาเป้าบินก่อนซื้อจากบริษัทอธิ คอร์ปอเรชั่น ก็ไม่มีการดำเนินการเช่นกัน


ทั้งนี้หากกรมสรรพาวุธฯ ขออนุมัติจัดซื้อจากบริษัทอธิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท มีประสบการณ์ทำงานด้านนี้จริงมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี จะเกิดปัญหาความเดือดร้อน จนต้องมีการนำเงินภาษีของพี่น้องประชาชน เข้าช่วยเหลือเหมือนกรณีบริษัท CCG หรือไม่? และงบประมาณที่ใช้จะต่ำกว่าการจัดซื้อจากบริษัท CCG ซึ่งเป็น “ซาปั๊ว” ที่ต้องไปซื้อของมาขายต่อ หรือไม่

และแม้กองทัพเรือจะอ้างว่า การคัดเลือกให้บริษัท CCG ได้โครงการนี้ เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกของทางราชการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นการยืนยันให้เห็นถึงความบกพร่องของกรมสรรพาวุธทหารเรือ ที่เจตนาจะไม่ใช้ความถ้วนถี่รอบคอบ ในการพิจารณาความพร้อมในการทำธุรกิจของบริษัทคู่สัญญา ซึ่งในท้ายสุดก็กลายมาเป็นภาระของประชาชนคนไทย ที่ต้องมาช่วยเจียดเงินภาษี ให้กองทัพเรือไปอุ้มบริษัทเอกชนของเจ้าแม่คนดัง ทั้งๆ ที่การบรรเทาความยากลำบากของบริษัท ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพเรือแต่อย่างใด

หรือหากกรมสรรพาวุธทหารเรือจะอ้างว่า การคัดเลือก บริษัท CCG เป็นการส่งเสริมธุรกิจ SME ในพื้นที่ ก็ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะบริษัท CCG ที่ไม่ได้ทำการผลิตสินค้าอะไรทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีพนักงานแค่ 3 คน ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จริง เป็นเพียงแค่บริษัทนายหน้าอีกทอดหนึ่ง แต่อ้างการเป็น SME เพื่อใช้สิทธิในการได้งานอื่นๆ จากกรมสรรพาวุธ ทั้งในปี 2565 และ2566 รวมกันทั้งสิ้นกว่า 120 ล้านบาท

กรณีนี้กองทัพเรือจึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เหตุใดจึงต้องยื่นมือไปช่วยโอบอุ้มเอกชนถึงขนาดกล้าเขียนว่า “เพื่อบรรเทาความยากลำบากของบริษัท” และการบรรเทาความยากลำบากของบริษัท อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแก้ไขสัญญาได้จริงหรือ? และทางราชการไม่เสียประโยชน์แน่หรือ? ทางราชการได้ประโยชน์อย่างไรจากการแก้สัญญานี้? หากว่า จ่ายเงินไปแล้ว 47.2 ล้านบาท แต่เป้าบินใช้งานไม่ได้กับรางเก่า เงินที่เหลืองวดสุดท้ายเพียง 2.4 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งต่ำกว่า 10 % ที่จะหักเป็นค่าปรับ กรณีการส่งมอบล่าช้า คุ้มค่ากับการที่เป้าบินไม่สามารถบินขึ้นหรือไม่?

เอกสารอันเป็นบันทึกข้อความ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเป้าบินซึ่งหลุดออกมาให้ทุกคนได้เห็น จึงไม่ต่างอะไรกับ “ใบเสร็จ” ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ขบวนการหากินกับการซื้อจ้างในกรมสรรพาวุธทหารเรือมีอยู่จริง

และมั่นใจได้เลยว่า หากเรื่องถึงมือ ป.ป.ช. และ สตง.เมื่อใด ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะในชั้นยศใด ทั้งที่อยู่ในหรือนอกราชการ คงยากที่จะรอดไปได้ ทั้งนี้แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ยังมีเอกสารหลักฐานอื่นๆ อีกหลายฉบับ ที่จะชี้เป็นชี้ตาย ขบวนการหากินกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ซึ่งเอกสารเหล่านั้น กำลังรอเวลาที่จะหลุดออกมาสู่สายตาของสาธารณชน ในลำดับต่อไป
จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามชนิด “อย่ากะพริบตา”
----------------------------------


กำลังโหลดความคิดเห็น