อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำ ศาล รธน. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภา ทำได้เพียงขั้นตอนตรวจร่างฯ ก่อนประกาศใช้
วันนี้ (25 ก.ค.) นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์กรณีคาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยกรณีการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มีมติการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจที่จะไปตรวจสอบข้อบังคับของรัฐสภา ส่วนที่ว่ารัฐสภาจะทำถูกต้องหรือไม่นั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบ โดยศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้เฉพาะร่างข้อบังคับก่อนที่จะเอาไปประกาศใช้ และไม่ได้เรียกว่าเป็นการตรวจสอบ แต่เป็นการช่วยกลั่นกรองให้กับรัฐสภา แต่เมื่อประกาศใช้แล้วไม่มีกฎหมายใดให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบข้อบังคับของรัฐสภาได้
โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 149 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบร่างข้อบังคับรัฐสภาได้ก่อนที่จะประกาศใช้ ส่วนสภาจะส่งร่างมาให้ศาลตรวจสอบหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของสภา แต่เมื่อร่างประกาศใช้แล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่ไปก้าวล่วงข้อบังคับของรัฐสภาได้
เมื่อถามว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตอบเรื่องนี้ได้ เพราะนั้นเป็นกฎหมายวิธีดำเนินการของรัฐสภา คนที่เชี่ยวชาญจะเป็นสมาชิกรัฐสภา ประธานกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภา ประธานรัฐสภา ตนจะรู้แค่วิธีพิจารณาของศาล
เมื่อถามว่า หลายคนมองว่า การโหวตเลือกนายกฯ เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ การอ้างข้อบังคับมาจำกัดสิทธิของผู้ที่จะได้เป็นนายกฯนั้นจะไปขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 157 ในการประชุมรัฐสภาต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับรัฐสภา ซึ่งท่านก็ดำเนินการตามข้อบังคับรัฐสภา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าข้อบังคับรัฐสภาขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้