รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค 2566 สอดคล้องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG สานต่อผลลัพธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย
วันนี้ (25ก.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จะมีการรับรองร่างปฏิญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค โดยสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอซิงตัน สหรัฐอเมริกา
ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค มีสาระสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ ปี พ.ศ.2573 ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา พ.ศ.2583 และแผนปฏิบัติการอาโอทีอาโรอา 2.การดำเนินงานตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 3.การดำเนินงานที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ประจำปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเน้นความเชื่อมโยงนวัตกรรม และความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร 4. การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี 5.ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร และ 6.ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
สำหรับเอกสารที่เกี่ยวข้องที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ คือ ร่างเอกสารหลักการเพื่อการบรรลุความมั่นคงอาหารผ่านระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค เป็นเอกสารที่นำเสนอหลักการสำคัญให้เขตเศรษฐกิจยึดถือ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคและสะท้อนปีแห่งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร พ.ศ.2573 โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
หลักการที่ 1 ระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ควรส่งเสริมความมั่นคงอาหาร การดูแลสิ่งแวดล้อม การรักษาวิถีชีวิต และคำนึงถึงผลประโยชน์ทางสังคมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและในอนาคต
หลักการที่ 2 นโยบายเพื่อพัฒนาความยั่งยืนและความยืดหยุ่นในระบบการเกษตรและอาหารที่แตกต่างกัน ควรตอบสนองต่อลักษณะเฉพาะและบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละเขตเศรษฐกิจ
หลักการที่ 3 การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรและอาหารของเอเปคไปสู่ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น ควรใช้กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและออกกฎระเบียบที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ปัจจัยเสี่ยงและสะท้อนถึงมาตรฐานสากล
หลักการที่ 4 ระบบการค้าพหุภาคี และตลาดที่โปร่งใส คาดการณ์ได้ เปิดกว้าง และยุติธรรม มีความสำคัญต่อความมั่นคงอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และสานต่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการเป็นเจ้าภาพเอเปคไทยปี 2565 โดยฉพาะเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นย้ำการใช้นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (whole-of-society-approach)