xs
xsm
sm
md
lg

"เสรี" บอก "เพื่อไทย" ไม่ต้องมาเจรจา สว.จุดยืนชัดเจนอยู่แล้ว เตือนระวังขัด รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เสรี" ระบุ "เพื่อไทย" ไม่จำเป็นต้องมาเจรจากับ สว.เพราะจุดยืนย้ำชัดแล้ว แถมส่อขัด รธน. สว.ต้องไม่อยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง แนะรวมเสียงให้แน่น-ทิ้งนโยบายกระทบสถาบัน  ปัดให้ความเห็นเลื่อนโหวตนายกฯ พร้อมรอฟังข้อมูล"ชูวิทย์" แฉ "เศรษฐา" น่าเชื่อถือหรือไม่

วันนี้(24 ก.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ( สว.)กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย จัดคณะพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อพูดคุยหาทางออกวิกฤตประเทศ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นหัวหน้าคณะเจรจา ว่า พรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องมา เพราะจุดยืนของ สว. ชัดเจนแล้วว่า หากมีพรรคการเมืองใด ที่จะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 หรือแก้ไขกฎหมายใดที่จะไปกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สว. ก็จะไม่สนับสนุน และหากมีการพูดคุยกับคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของ สว. ที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ดังนั้นจึงเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องเดินทางมาพูดคุยกับ สว. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

ส่วนหากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่จะนำเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โดยพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน สว.จะสนับสนุนหรือไม่นั้น นายเสรี ระบุว่า กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก็จะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมตามปกติ พร้อมแนะนำให้พรรคเพื่อไทย รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลให้เพียงพอ และมีนโยบายที่ไม่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ ก็เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาพร้อมสนับสนุน เพราะมองว่ากระบวนการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของภาคก้าวไกลนั้น เป็นข้ออ้างที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นเพืทอเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น

นายเสรี ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ควรจะเลื่อนออกไปก่อนหรือไม่ หลังกระบวนการเจรจาพูดคุยของพรรคเพื่อไทยยังไม่เสร็จสิ้น โดยระบุเพียงว่า สว. ไม่มีความขัดข้องว่าจะมีการประชุมให้เลือกนายกรัฐมนตรีในวันใด แต่ขอให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปพูดคุยตกลงกันให้ได้ข้อสรุปก่อน

ส่วนกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เตรียมเปิดเผยข้อมูลลับของนายเศรษฐา ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.) จะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่นั้น นายเสรี ระบุว่า จะต้องไปพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อน เพราะหากฟังความข้างเดียวก็อาจไม่เป็นธรรม ดังนั้น จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น