xs
xsm
sm
md
lg

“กัณวีร์” ยันเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำได้ อ้างไม่อาจลิดรอนสิทธิตาม รธน. ชี้ ไม่ใช้ข้อบังคับ 41 ต้องหมวด 9

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.เป็นธรรม ย้ำ เสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ย่อมทำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับที่ไม่อาจลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเขาได้ ชี้ อ้างข้อบังคับ 41 ผิดฝาผิดตัวต้องดูหมวด 9

วันนี้ (18 ก.ค.) นายกัณวร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ได้เสนอต่อที่ประชุมวิป ส.ส.และ ส.ว.ที่กำลังหารือกันว่าในการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ว้นที่ 19 ก.ค.นี้ การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นญัตติซ้ำ ตามที่ ส.ว.และ ส.ส.บางพรรคการเมืองทักท้วงหรือไม่

นายกัณวีร์ ระบุว่า การอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 ในลักษณะตีความเพื่อปฏิเสธการยื่นญัตติที่ตกไปแล้วซ้ำอีกครั้ง กรณีเสนอชื่อคุณพิธาเป็นนายกฯ ถือเป็นการอ้างอิงที่ผิดฝาผิดตัว เพราะข้อบังคับข้อที่ 41 ถูกวางอยู่ในหมวดที่ว่าด้วย การประชุมรัฐสภา ซึ่งมีเจตนาระบุถึง “วิธีการและกระบวนการของการประชุม” เท่านั้น ตั้งแต่วิธีการจัดประชุม วิธีการเสนอญัตติ วิธีการและกฎ กติกา มารยาทในการอภิปราย และวิธีการลงมติ

สำหรับวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 แยกออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหาก คือ หมวด 9 บ่งชี้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของข้อบังคับ ที่ต้องการแยกกฎเกณฑ์ต่อการพิจารณาเรื่องนี้ เฉพาะออกมาต่างหากจากวิธีการประชุมเหล่านั้น

โดยที่กฎกติกาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ตามข้อบังคับฯ หมวด 9 อ้างอิงกลับไปยังกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของการเสนอชื่อใครได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยึดโยงอยู่เฉพาะกับมาตรา 159 วรรค 1 และวรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ เท่านั้น

นายกัณวีร์ ย้ำว่า กติกาเฉพาะในขั้นตอนของการเสนอชื่อดังกล่าว ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 วรรคหนึ่ง มีเพียง 2 เรื่องที่ต้องคำนึงว่าจะเสนอใครได้ เสนอใครไม่ได้ คือ การพิจารณาตามความในมาตรา 160 และมาตรา 88 แห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีมาตราใดบังคับห้ามการเสนอชื่อซ้ำ ในกรณีที่ลงมติไม่ผ่านความเห็นชอบตามกติกาของมาตรา 159 วรรคสาม แต่อย่างใด

“การเสนอชื่อคุณพิธา เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบจึงเป็นสิ่งกระทำได้ตามกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงสุดของราชอาณาจักร และกระทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 อีกทั้งยังเป็นสิทธิของผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 88 และมาตรา 160 แห่งรัฐธรรมนูญ ในการได้รับการเสนอชื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่อาจไปลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเขาได้” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น