"วันนอร์" นัดวิป 3 ฝ่ายหารือ ถกโหวตนายกฯ รอบ 2 ปมข้อบังคับฯข้อ 41 ให้เสนอชื่อ "พิธา" โหวตนายกฯ อีกรอบได้หรือไม่ ส่วนแกนนำ พท. -ส.ว. คุยกันชื่นมื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.15 น. มีการประชุมคณะกรรรมการประสานงาน 3ฝ่าย คือ ฝ่ายวุฒิสภา ฝ่าย8พรรค และฝ่าย10พรรค เพื่อหารือถึงกรอบการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นครั้งที่สอง ในวันที่ 19 กรกฏาคม โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนจากแต่ละฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น พบว่า ทีมของพรรคเพื่อไทย นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคได้เดินเข้าห้องประชุม พร้อมกับนายสมชาย แสวงการ และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ที่เป็นตัวแทนกรรมการประสานงานจากฝั่งวุฒิสภาโดยเป็นที่น่าสังเกตว่าทีมเพื่อไทยและส.ว. ต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มและเป็นมิตรต่อกัน และเมื่อมาถึงหน้าห้องประชุม ส.ว. ได้เดินเข้าห้องประชุมก่อน ขณะที่ทีมเพื่อไทย ได้ไปเข้าห้องน้ำและเดินตามเข้าห้องประชุมภายหลัง
ซึ่งนพ.ชลน่านกล่าวกับสื่อมวลชนว่าบังเอิญเจอกันในลิฟท์โดยสารเท่านั้นและทักทายกันตามปกติ ไม่มีอะไร
ทั้งนี้ก่อนที่ที่ประชุมวิป3ฝ่ายจะหารือกันเป็นการภายใน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวกับที่ประชุมว่าการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การประชุมการอภิปรายและการนับคะแนนได้แล้วเสร็จก่อนเวลา ถึง 2 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ดีของการเริ่มประชุมรัฐสภาสมัยนี้ แต่การประชุมยังไม่เสร็จสิ้นเพราะยังไม่ได้ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกนายกฯ ทำให้เสร็จสิ้น เพื่อให้มีนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ บริหารประเทศต่อไป จึงนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 19 กรกฏาคมนี้
อย่างไรก็ในประเด็นข้อหารือของวิป3ฝ่ายวันนี้ ต้องจับตาการยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ41 หารือถึงทางออกว่าจะดำเนินการอย่างไร กรณีที่ญัตติใดที่เสนอต่อที่ประชุมและถูกโหวตไม่เห็นชอบแล้ว จะนำกลับมาเสนอซ้ำอีกได้หรือไม่ ซึ่งส.ว. มองว่าการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ นั้นคือญัตติที่ถูกตีตกไปแล้ว ดังนั้นหากจะเสนอญัตติโหวตนายกฯ โดยมีชื่อนายพิธาอีก อาจจะเป็นปัญหาได้ ซึ่งแนวทางออกของเรื่องนี้คือ การเว้นใช้ข้อบังคับการประชุม ที่ต้องให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด