xs
xsm
sm
md
lg

อนุ ก.ก.ถ. รับลูก สธ. ตั้งคณะทำงาน "ทบทวน" 5 อุปสรรค ภารกิจถ่ายโอน สอน.-รพ.สต.ไป อบจ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุ ก.ก.ถ. รับลูก สธ. ตั้งคณะทำงาน "ทบทวน" ภารกิจถ่ายโอน สอน.-รพ.สต.ไป อบจ. ใน 5 ประเด็น ทั้งผลกระทบต่อการบริการประชาชน แก้ปัญหาถ่ายโอนบุคลากรไปสังกัด อบจ. การบริหารจัดการระบบการรายงานข้อมูลสุขภาพ ความล่าช้าในกฎระเบียบและการสื่อสาย รวมถึงขั้นตอนการมอบหมายงานหลังถ่ายโอน

วันนี้ (11 ก.ค.2566) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และคณะอนุกรรมการประสานงานการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.

ได้ประชุมหารือร่วมกัน ในประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ขอให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

โดยมี นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ เป็นประธาน ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings

มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจฯ แนบท้ายประกาศ ก.ก.ถ. เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และรพ.สต. ให้แก่ อบจ.

ได้แก่ สกถ. สธ. สถ. สปสช. สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และ อบจ. จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และรพ.สต. ให้แก่ อบจ. ตามประเด็นที่ขอหารือ

รวม 5 ประเด็น ได้แก่ (1) ผลกระทบต่อการจัดบริการให้แก่ประชาชนภายหลังจากการถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. (2) ปัญหาการถ่ายโอนบุคลากรไปสังกัด อบจ.สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

(3) การบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพร่วมกันและระบบการรายงานข้อมูลสุขภาพ (4) ความล่าช้า ปัญหากฎระเบียบและการสื่อสารไปยัง อปท. ในการแก้ไขปัญหาหลังมีการถ่ายโอน

และ (5) ปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนการมอบหมายงาน ก่อนเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

เมื่อเดือน มี.ค. สธ. มีหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ขอให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจฯ

สาระใจความสำคัญของหนังสือ ขอให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจ พบว่า มี 5 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ระบุว่า หลังจากการถ่ายโอนสถานีอนามัยฯและรพ.สต.ให้อบจ. พบว่า มีผลกระทบต่อการจัดบริการให้กับประชาชนในพื้นที่

เช่น กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ต้องรับยาเป็นประจำภายใต้การดูแลของแพทย์ไม่สามารถไปรับยาต่อเนื่องได้ที่สถานอนามัยฯ หรือ รพ.สต. ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน

หรือกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องทำแผลฉีดยา พบว่า ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่รพ.ชุมชน เพิ่มขึ้น หลังการถ่ายโอน ร้อยละ 12.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

ประเด็นที่ 2 การถ่ายโอนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 เป็นความสมัครใจของบุคลากรสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งควรเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต. ไม่ใช่บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่น

ทำให้เกิดผลกระทบต่อภารกิจการให้บริการ สอดคล้องกับความเห็นของผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กับหลักการดังกล่าว

นอกจากนี้ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วยังขาดบุคลากรในการให้บริการ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ต้องเป็นภาระเพิ่มสำหรับประชาชนและหน่วยบริการอื่น

ประเด็นที่ 3การบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพร่วมกัน และระบบการรายงานข้อมูลสุขภาพเพื่อนำไปเป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติการจัดทำระบบการรายงาน และการส่งมอบข้อมูลระหว่างกันนั้น สอน.และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ยังไม่มีแนวทางการจัดการข้อมูลดังกล่าว

ตลอดจน อบจ. ยังไม่มีการเตรียมค่าใช้จ่ายการจัดการระบบข้อมูลตลอดทั้งการเตรียมการคุ้มครอง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ขอรับงบประมาณงบดำเนินการค่าสาธารณูปโภค รายการค่าบริการสื่อสารและโทรคมนาคม

หาก อบจ.ไม่มีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บข้อมูลการบริการ การเชื่อมโยงข้อมูล และการใช้ข้อมูลให้เป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งผลต่อความรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันข้างหน้าได้

ประเด็นที่ 4 หลังจากการถ่ายโอนถึงแม้ อปท. เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน และมีหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขและอนามัยชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

จากกรณีสถานการณ์ของโรคระบาด ต้องใช้กลไกรัฐส่วนกลางเป็นหลักในการกำหนดนโยบาย อปท. ได้สนับสนุนและดำเนินงานตามคำสั่ง/มาตรการ/แนวทางของรัฐส่วนกลาง ภายใต้การควบคุมของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

อปท.จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากปัญหากฎระเบียบและการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน

อาจเกิดความเสี่ยงต่อการปฏิบัติตามนโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ เช่น การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งพบว่ามีการระบาดในหลายพื้นที่ที่มีการถ่ายโอน

ประเด็นที่ 5 กรณีนโยบายรัฐบาลส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ และต้องดำเนินการในทุกพื้นที่ พบว่าหลังการถ่ายโอนภารกิจฯ มีขั้นตอนการมอบหมายงานให้ปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น

ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและเสี่ยงต่อผลการปฏิบัติงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น กรณีการดูแลกลุ่มวัยเด็ก/นักเรียน ที่ต้องได้รับโปรแกรมการให้ภูมิคุ้มกันโรค (วัคซีน) และโปรแกรมการตรวจคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

ซึ่งต้องดำเนินการให้ทันทวงทีและต้องเป็นไปตามกำหนด พบว่าภายหลังการถ่ายโอนภารกิจฯ ในหลายพื้นที่มีผลการดำเนินงานที่ต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้กลุ่มวัยเด็ก/นักเรียน ไม่ได้รับบริการที่จำเป็นดังกล่าว

นอกจากนี้ การถ่ายโอนภารกิจฯ ให้แก่ อบจ. ที่ขอรับใหม่เพิ่มเติมในปีงบประมาณพ.ศ.2567 จำนวน 14 จังหวัดนั้น

จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า การประเมินความพร้อมของ อบจ. เพื่อรองรับการถ่ายโอนฯ ไม่สะท้อนความพร้อมที่เป็นจริง และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เห็นสมควรให้ ก.ก.ถ. ทบทวนการถ่ายโอนฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567

โดยขอเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณาในการประชุม ก.ก.ถ.ในครั้งถัดไป เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่.


กำลังโหลดความคิดเห็น