รองโฆษกรัฐบาล ย้ำ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหา PM2.5 แจงที่ผ่านมากำชับและสั่งการกว่า 30 ครั้ง หลังจากนี้เร่งกำชับไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ดำเนินการป้องกัน-ควบคุม-เยียวยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันนี้ (11ก.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ร่วมกันใช้อํานาจตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดําเนินการอื่นใดเพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่ในค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมาก หรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ขอชี้แจงการดำเนินการที่ผ่านมา ดังนี้
1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทําแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 เป็นแผนกําหนดทิศทางการดําเนินการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไปสู่เป้าหมายเดียวกัน อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งการกําหนดมาตรฐานเป้าหมายจากสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและภาคการปฏิบัติในการจัดการสาธารณภัยให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัยอย่างบูรณาการ และได้กําหนดบทบาทหน้าที่และ แนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง และหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 27 หน่วยงาน ในการดําเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีหน่วยงานหลัก ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นว่า ปัญหาฝุ่นละอองสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตร ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นในภูมิภาค อีกด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และต่อมาได้มอบหมายให้คณะกรรมการสิ่งแสดล้อมแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการขับเคลื่อนวาระดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
2. ด้านการจัดการกับเหตุสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งกําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยแรกที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเผชิญเหตุกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และหากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นนั้นเกินขีดความสามารถของพื้นที่ องค์กรปฏิบัติในระดับที่ เหนือขึ้นไปจะรับผิดชอบ ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ โดยสามารถแบ่งระดับการจัดการ สาธารณภัยเป็น 4 ระดับ ดังนี้ คือ
ระดับที่ 1 สาธารณภัยขนาดเล็ก ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย คือ ผู้อํานวยการอําเภอ ผู้อํานวยการท้องถิ่น ควบคุมและสั่งการ
ระดับที่ 2 สาธารณภัยขนาดกลาง ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย คือ ผู้อํานวยการจังหวัด ควบคุม สั่งการและบัญชาการ
ระดับที่ 3 สาธารณภัยขนาดใหญ่ ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย คือ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แห่งชาติ ควบคุม สั่งการและบัญชาการ และ
ระดับที่ 4 สาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย คือ ผู้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ ซึ่งภัยจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นสาธารณภัยระดับที่ และอยู่ในอํานาจควบคุมสั่งการและบัญชาการของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อํานวยการจังหวัด
รัฐบาลได้ให้ความสําคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ รวมทั้งได้ให้คณะกรรมการสิ่งแสดล้อมแห่งชาติและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกลไก หลักในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง กระทรวงมหาดไทยได้ดําเนินการตามแนวทางข้างต้น ภายใต้มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองมาอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2566 ได้ให้ความสําคัญกับการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 แผนเฉพาะ กิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วยแนวทางการดําเนินงาน 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “1 สื่อสารเชิงรุก 5 ยกระดับปฏิบัติการ 1 สร้างการมีส่วนร่วม” และ ข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยในการยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ดังนี้
(1) เมื่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานใน พื้นที่ต่อเนื่องให้พิจารณายกระดับปฏิบัติการตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ฝุ่นละอองตาม แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามแนวทาง ดังนี้ ระดับที่ 1 PM2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดําเนินภารกิจตามอํานาจ หน้าที่ที่มีอยู่ ระดับที่ 2 PM2.5 ระหว่าง 51 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงาน ดําเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่าง ๆ เข้มงวดขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ เหตุการณ์ ส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนการปฏิบัติ ระดับที่ 3 PM2.5 ระหว่าง 76 - 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เมื่อดําเนินการตามระดับ 2 แล้ว สถานการณ์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมแหล่งกําเนิดหรือหยุดกิจกรรม ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และคณะกรรมการควบคุมมลพิษให้ข้อเสนอแนะ ระดับที่ 4 PM2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดําเนินการในระดับ 3 แล้ว สถานการณ์ ไม่มีแนวโน้มลดลงให้มีการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษเพื่อพิจารณา กลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และนําเรียนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณา สั่งการ
(2) เน้นย้ําการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน และสั่งการให้หน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่ ตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ตลอดจนเข้าควบคุมแหล่งกําเนิดหรือหยุดกิจกรรม ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมทั้งกํากับและติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ. 2566 โดยเคร่งครัด
(3) ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วม ในการสอดส่องดูแลหมู่บ้านหรือชุมชน โดยงดการเผาและงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการ และผลการปฏิบัติของภาครัฐ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตลอดจนช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
“ในการดำเนินการเพื่อการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการสั่งการไปแล้ว 30 กว่าครั้งเพื่อให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นวาระปัญหาร่วมกันของโลก นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาระดับชาติ รวมถึงเป็นประเด็นมลพิษข้ามพรมแดน ที่ต้องอาศัยกลไกและมาตรการการจัดการมลพิษทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ จึงขอยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยเพิกเฉย นิ่งนอนใจ หรือละเลยในการแก้ไขจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งต่อไปจะเร่งกำชับให้มีการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพทั้งในมาตรการป้องกันมลพิษ มาตรการจัดการและควบคุมมลพิษ และมาตรการแก้ไขเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” น.ส.ทิพานัน กล่าว