xs
xsm
sm
md
lg

วุ่น! “ปค.” เบรก บมจ.ธ.กรุงไทย เข้าถึงข้อมูล “ทะเบียนราษฎร” โครงการรัฐ หลังติดปมสถานภาพ ส่วน รชก.ขัดหลัก กม.ข้อมูลบุคคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วุ่นแล้ว! “กรมการปกครอง” สั่งเบรก บมจ.ธ.กรุงไทย เข้าถึงข้อมูล “ทะเบียนราษฎร” อ่านข้อมูลบัตร ปชช. ในเครือข่าย แม้มี “เอ็มโอยู” ให้เข้าถึง ย้ำ! ข้อสังเกต บช. “บมจ. ไม่มีสถานภาพเป็นส่วนราชการ/หน่วยงานของรัฐ” แม้รับจ้าง ก.คลัง ดำเนินโครงการ “เป๋าตัง-บัตรคนจน” ด้าน ฝ่าย กม.มท. แนะหาข้อยุติ ส่งกฤษฎีกาตีความ 2 ข้อ พ่วงประเด็น! อาจขัดหลักกฎหมายเปิดเผยข้อมูลบุคคลภายนอก

วันนี้ ( 6 ก.ค. 2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ทำหนังสือส่งปัญหาข้อกฎหมายสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นเพื่อความละเอียดรอบคอบ

กรณี กรมการปกครอง เห็นว่า บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.ธ.กรุงไทย) ไม่มีสถานภาพเป็นส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 1489 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2565

“ได้ระงับ “การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์” เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไว้เป็นการชั่วคราว ในวันที่ 2 ธ.ค. 2565”

โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 5 ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ในการ พิจารณาอนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์ ข้อมูลในทะเบียนอื่น

นอกจากทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย และทะเบียนประวัติ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 1 พ.ย. 2562

และข้อ 11 ของบันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง กรมการปกครองกับ บมจ.ธ.กรุงไทย แต่ยังอนุญาตให้ใช้โปรแกรม สำหรับ “อ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน”

การหารือดังกล่าว สืบเนื่องจาก กรมการปกครอง ได้รับอนุญาต บมจ.ธ.กรุงไทย ให้ใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนราษฎร ตามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์

โดยวิธีแฟ้มข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (BATCH PROCESSING) และเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Online) ลงวันที่ 7 มี.ค. 2551 โดยเป็น หน่วยงานของรัฐตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

ต่อมา คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง แจ้งหน่วยงานในสังกัดมหาดไทย ว่า บมจ.ธ.กรุงไทย ไม่มีสถานภาพเป็นส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ

โดยเมื่อต้นปี 2566 ธ.กรุงไทย ได้แจ้งสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ ความว่า บมจ.ธ.กรุงไทย ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยงานของรัฐ แม้ธนาคารจะไม่มี สถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณ

แต่ธนาคารยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายบางฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (ตามแนว คำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 1140/2564)

“เพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอความอนุเคราะห์ให้ เข้าใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางเช่นเดิม”

ขณะที่ ฝ่ายกฎหมาย กรมการปกครอง เห็นว่า ควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย พิจารณา แม้ในปัจจุบัน สำนักทะเบียนกลาง ยังคงให้ บมจ.ธ.กรุงไทย เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ในบางรายการ

ได้ตรวจสอบทางระบบฐานข้อมูลแล้ว เห็นว่า บมจ.ธ.กรุงไทย ใช้โปรแกรมสำหรับ “อ่านข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์” เป็นหลัก สำหรับช่องทางการตรวจดูข้อมูลทะเบียนราษฎรผ่านการเชื่อมโยงฐานข้อมูล

“พบว่า มีการใช้น้อยมาก หากไม่ได้รับอนุญาตให้เชื่อมโยง ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อ บมจ.ธ.กรุงไทย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ก็ไม่ได้รับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเช่นกัน”

อีกประเด็น เห็นว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากกรมการปกครอง เพื่อประโยชน์กรณีกระทรวงการคลัง ได้ว่าจ้างให้ บมจ.ธ.กรุงไทย ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการเป๋าตัง โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เป็นต้น

ซึ่ง บมจ.ธ.กรุงไทย สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรผ่านกระทรวงการคลัง ในฐานะคู่สัญญา ที่กระทรวงการคลัง ได้รับอนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากกรมการปกครองแล้ว ได้อีกทางหนึ่ง

ล่าสุด คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 2 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีความเห็นว่า จนกว่าจะได้ข้อยุติที่ชัดเจนว่า บมจ.ธ.กรุงไทย ยังคงสถานะความเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามความหมายของ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และฉบับแกไขเพิ่มเติมหรือไม่

“ไม่ว่า บมจ.ธ.กรุงไทย จะมีสถานะอย่างไรก็ตาม ควรที่จะพิจารณาวัตถุประสงค์ของการนำข้อมูลไปใช้ประกอบด้วย”

เนื่องจากตามมาตรา 14 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

กำหนดว่า ห้ามมิให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ พนักงานสอบสวน ที่ได้ข้อมูลใด ตามมาตรานี้ นำไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ หรือในเรื่องอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของทางราชการ หรือตามวัตถุประสงค์ที่ร้องขอ

ดังนั้น การนำ “ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร” ไปใช้ประโยชน์ของ บมจ.ธ.กรุงไทย จึงอาจขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการหารือร่วมกันในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวในขั้นนี้ “ยังไม่ได้ข้อยุติ” จึงเห็นควรให้ กรมการปกครอง ทำหนังสือส่งปัญหาข้อกฎหมายสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นเพื่อความละเอียดรอบคอบ

โดยอาจหารือใน 2 ประเด็น คือ 1) บมจ.ธ.กรุงไทย มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2543 หรือไม่

และ 2) หาก บมจ.ธ.กรุงไทย เป็น รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ การขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูล ทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์

จะเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 หรือไม่

คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ตามบันทึกข้อตกลง “ขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์”

ที่กำหนดให้นำข้อมูลที่ได้จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรมาปรับปรุง ระบบฐานข้อมูลของธนาคาร ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ลูกหนี้ “ที่มีส่วนได้เสีย”

อาจขัดกับหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลของบุคคลภายนอก ซึ่งไม่ได้ให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลนั้น ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

และควรจัดเตรียมข้อมูลส่วนนี้ไว้ประกอบ การชี้แจงในขั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น