xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” ป้อง “บิ๊กป้อม” ถูกโซเชียลฯ วิจารณ์นั่งหลับในห้องประชุมสภา เป็นองค์ประชุมให้ก็ดีแล้ว อย่าจับผิดกับเรื่องแค่นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชวน หลีกภัย” ป้อง “บิ๊กป้อม” ถูกโซเชียลฯ วิจารณ์นั่งหลับในห้องประชุมสภา เป็นองค์ประชุมให้ก็ดีแล้ว อย่าจับผิดกับเรื่องแค่นี้ แขวะ “ปดิพัทธ์” ทำตัวเหมือนประธานสภา ทั้งที่มีหน้าที่ทำตามประธานฯมอบหมาย แนะโหวตนายกฯ ไม่ต้องต่อสร้อยห้อยท้าย จะประหยัดเวลามาก

วันนี้ (6 ก.ค.) นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานสภา กล่าวถึงกรณีที่สื่อโซเชียลเผยแพร่ภาพและวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีลักษณะนั่งหลับในห้องประชุมสภาวันเลือกประธานสภา และ รองประธานสภา ว่า ตนเห็นว่า ไปวิจารณ์ว่าท่านนั่งหลับ บางฝ่ายบอกว่า ท่านก้มไม่เงย อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า ฝ่ายค้านมีอยู่น้อย ดังนั้น การที่ พล.อ.ประวิตร กรุณามาประชุมด้วยตัวเองก็ต้องขอบคุณอย่าไปจับผิด เรื่องแค่นี้เลย ตนคิดว่าทุกคนเมื่อนั่งนานๆ ก็มีสิทธิ ส.ส.เขาเลยกลัวสื่อว่าจะไปจับผิดพลาดบางคน จึงไม่เข้าห้องประชุมพอกดบัตรเสร็จก็รีบออกนอกห้อง และเขาจะพูดเลยว่าสื่อจะคอยจับเราตอนหลับหรือเปล่า ดังนั้น ก็อย่าไปนั่งให้เป็นเหยื่อ จึงคิดว่าสื่ออย่าไปจับเรื่องนี้เอาเรื่องที่เป็นสาระดีกว่า การที่ ส.ส.บางคนเผลอหลับตาบ้าง อะไรบ้างและไม่ได้มีผลกระทบอะไรสำคัญคือคนที่มาประชุม

นายชวน กล่าวต่อว่า การประชุมลงมติที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เราเสียเวลาไปกับการคานคำว่าบัตรดี 500 ครั้ง ซึ่งความจริงไม่ต้องใช้คำว่าบัตรดี ก็สามารถอ่านชื่อได้เลย เช่น “วิทยา, ปดิพัทธ์” ซึ่งการประชุมสภาสมัยที่แล้วเราจะทำอย่างนั้นห้ามใช้สร้อย หรือเอ่ยชื่อตัวเอง ทำให้ประหยัดเวลาไปได้ชั่วโมง ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สมาชิกให้ความร่วมมือและสามารถทำได้ร้อยละ 99 และในสมัยใหม่นี้ก็จะสามารถประหยัดเวลาได้

เมื่อถามว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาประหยัดแบบนี้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เขาควรทำ เพราะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่าสามารถประหยัดเวลาได้ หากมีสร้อยต่อท้ายครั้ง 2 ครั้ง ก็ไม่รู้สึกแต่ถ้า 750 ครั้ง ก็มีปัญหาทั้งนั้น ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถโหวตได้กี่ครั้งนั้นไม่ได้มีกฎหมายห้าม แต่ขอให้ถาม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาจะดีกว่า

ต่อข้อถามว่า ในฐานะที่เป็นอดีตประธานสภาได้คุยกับนายมูหะมัดนอร์ บ้างหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ได้ยินดีกับท่านตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกแล้วซึ่งขอบอกกับลูกน้องท่าน ว่า ขอให้ดูแลสุขภาพของท่าน เพราะสำหรับวัยตนหรือวัยท่านวันนอร์ เป็นวัยที่สูงอายุ ถ้าไม่ค่อยแข็งแรงก็จะมีปัญหา เพราะต้องนั่งบนบัลลังก์ 3-4 ชั่วโมง และเวลานั่งก็ไม่ได้นั่งหลับ เหนื่อยที่สุดคือเงยหัว เพราะต้องฟังว่าใครพูดอะไรเกิน อะไรขาด จะให้เขาถอนหรือไม่ถอนคำพูดก็ต้องรู้ เมื่อเสร็จเวรแล้วรองประธานขึ้นมาแทน ประธานก็ต้องตามต่อ เพราะจะได้รู้ว่าเวรต่อไปใครพูดอะไรไว้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานหนัก จึงต้องให้กำลังใจท่าน และขอให้ท่านดูแลสุขภาพก็แล้วกัน

เมื่อถามว่า เชื่อว่า นายวันมูหะมัดนอร์ จะสามารถทำงานได้กับรองประธานทั้ง 2 คน ที่มาจากพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยได้ดีหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 บอกว่า จะทำตามพระบรมราโชวาท และตามที่ประธานมอบหมาย แต่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานคนที่ 1 แถลงเหมือนเป็นประธานเอง เพราะที่จริงแล้วรองประธานมีหน้าที่ คือ รับมอบหมายจากประธานสภาฯว่าให้ทำอะไร และถ้าจะทำอะไรใหม่พิเศษออกมา ก็ต้องขออนุมัติจากประธาน ซึ่งถือประธานจะเป็นหลัก ส่วนรองประธานจะปฏิบัติภารกิจตามที่ประธานมอบหมาย ซึ่งงานสภาถือว่าหนักมาก เพราะนอกจากงานภายในการประชุมแล้ว ยังมีงานปีกย่อยอีก แต่ขณะนี้เรามีประธานมุสลิม รองประธานคนที่ 1 เป็นคริสต์ รองประธานคนที่ 2 เป็นพุทธ ถือว่า 3 ศาสนาเลย ตนจึงบอกกับเลขาธิการสภา ว่าอย่างต้องรักษามาตรฐานศาสนาไว้อย่างเดิม

เมื่อถามว่า เป็นห่วงสภายุคนี้ในเรื่องขององค์ประชุมหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เชื่อว่า เรื่ององค์ประชุมในยุคนี้น่าจะหมดไป ส่วนนายพิเชษฐ์ ซึ่งเป็นรองประธานคนที่ 2 ในสมัยที่แล้วก็ประท้วงเยอะนั้น หลังได้ตำแหน่งนายพิเชษฐก็มาสวัสดีตน ตนก็ได้ล้อเล่นไปว่า ถึงเวลาทำนาใครจะมาหว่านข้าวในสภา แต่ก็เชื่อว่า ปัญหาต่างๆ น่าจะลดลง เพราะตัวปัญหาไปเป็นรัฐบาลเอง พูดง่ายๆ คือ คนที่ไม่กดบัตรทำให้องค์ประชุมไม่ครบ การประชุมสมัยนี้เขาต้องมาประชุมแต่ที่สำคัญ คือ หัวหน้ารัฐบาลในอนาคตเป็น ส.ส.หรืออย่างน้อยมีหัวหน้าพรรคการเมืองมารับผิดชอบ ยกเว้นพรรคเพื่อไทยที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในสภา แต่คนที่แข่งขันเป็นนายกฯ ไม่ได้อยู่ในสภา แต่พรรคก้าวไกลเขาอยู่ในสภา แต่สมัยที่แล้วพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็น ส.ส.จึงไม่ได้อยู่ในสภา และหัวหน้าพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล คือ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่ได้อยู่ในสภา เพราะเมื่อมีปัญหาก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร แม้จะมีตัวแทนของพรรคแต่ก็ไม่ยอมรับกัน แต่ปัญหาเหล่านี้ในสมัยนี้ปัญหานี้น่าจะหายไป ความร่วมมือก็น่าจะดีขึ้น การพูดมากก็น่าจะลดลง


กำลังโหลดความคิดเห็น