xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ยินดีการค้าการลงทุนไทย – จีน เดินหน้าต่อเนื่อง ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างพื้นที่ EEC และโครงการยุทธศาสตร์ GBA จับคู่ทางธุรกิจ คาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีการค้าการลงทุนไทย – จีน เดินหน้าต่อเนื่อง ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างพื้นที่ EEC และโครงการยุทธศาสตร์ GBA (กวางตุ้ง - ฮ่องกง – มาเก๊า) จับคู่ทางธุรกิจ คาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท

วันนี้ (3 ก.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับผลสำเร็จของการประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (มณฑลกวางตุ้ง) – และไทย (China (Guangdong) – Thailand Economic Cooperation Conference) โดยสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area : GBA) เกิดการจับคู่ธุรกิจผ่านการลงนามในบันทึกความร่วมมือถึง 10 โครงการ คาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท พร้อมส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าฯ จัดขึ้นโดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง และคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มณฑลกวางตุ้ง (CCPIT) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศเข้าร่วมงานกว่า 200 คน ซึ่งได้สร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างพื้นที่ EEC และ GBA โดยข้อมูลจาก สกพอ. เผยว่า พื้นที่ GBA จะเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับ EEC ที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนที่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำและมีความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งพื้นที่ GBA ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจีนตอนใต้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พื้นที่ EEC ของไทย ผ่านการเชื่อมโยงจากเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (One Belt One Road) มายังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผลจากการประชุมสัมมนาฯ ได้สร้างการจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศผ่านการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Signing Ceremony) จำนวน 10 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการนิคมอุตสาหกรรมไทย – กวางตุ้ง 2. โครงการความร่วมมือการค้าอะลูมิเนียม 3. โครงการอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์อะมิโน 4. การส่งเสริมการลงทุนของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 5. โครงการความร่วมมือเพื่อนำเข้าส่งออกสมุนไพร 6.โครงการศูนย์โลจิสติกส์ไฮเทค 7. การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ไม้หอมกฤษณา 8. การส่งออกรังนกไปยังประเทศจีน 9. โครงการศูนย์แสดงสินค้า และ 10. โครงการก่อสร้างศูนย์ E-commerce ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแนวทางที่จะขยายความร่วมมือในด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีน และการศึกษาระดับอาชีวศึกษาอีกด้วย โดยทางคณะ EEC มีแผนที่จะเดินทางไป Roadshow ณ มณฑลกวางตุ้ง และนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจีนในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานสะอาด แบตเตอรี่ไฟฟ้า และการแพทย์

“นายกรัฐมนตรีมุ่งผลักดันพื้นที่ EEC ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นย้ำการบูรณาการการทำงาน และความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งการประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจีนที่มีต่อประเทศไทย แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของ EEC และประเทศไทย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การวางโครงสร้างความพร้อมใน EEC ที่ดำเนินการมาตลอดอย่างต่อเนื่อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงการพัฒนาบุคคลากร พร้อมรองรับอุตสาหกรรมการลงทุนทุกประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต” นายอนุชาฯ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น