xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อให้ประชาราษฎร์มีสิทธิ-เสียง”! “อ.ไชยันต์” เปิดพระราชหัตถเลขาในหลวง ร.7 รำลึก 91ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร จากแฟ้ม
“เพื่อให้ประชาราษฎร์ได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ...” คือสาระสำคัญบางตอน ที่“อ.ไชยันต์” เปิดพระราชหัตถเลขาในหลวงร.7 รำลึก 91ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง “24 มิ.ย.2475”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(24 มิ.ย.66) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ระบุว่า

“#91ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

“เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวก ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้ทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว

ได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น

เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น

เพื่อให้ประชาราษฎร์ได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ อันจะเป็นส่วนได้ส่วนเสียแก่ประชาชนทั่วไป

ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่เสมอ และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปแบบนั้น (1)
โดยมิให้กระทบกระเทือนอันร้ายแรง

เมื่อมามีเหตุอันรุนแรงขึ้นเสียก่อนแล้ว และเมื่อผู้ก่อความรุนแรงนั้นอ้างว่า มีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน

ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบภายในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้...”

………..

เชิงอรรถ

1. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ราษฎร โดยทรงมอบให้พระยาศรีวิศาลวาจา และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ยกร่าง ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

------------

ต่อการร่างรัฐธรรมนูญและเตรียมการไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ยาสุกิจิ ยาตาเบ (Yasukichi Yatabe) ผู้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยามขณะนั้น ได้เขียนไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษแต่เยาว์วัย

ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศอังกฤษและจากโรงเรียนเสนาธิการของประเทศฝรั่งเศส

พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารนี้

พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยมค่อนข้างมาก

นับจากขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว เราดูจากภายนอก รู้ได้ว่า พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริที่จะเริ่มการปกครองในแบบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย

กล่าวคือ ภายหลังจากครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์ทรงปรับปรุงกรรมการองคมนตรีสภา ซึ่งแต่เดิมไม่มีบทบาทและมีแต่ชื่อมานาน

โดยทรงปรับปรุงและจัดให้มีกรรมการจำนวน ๔๐ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางด้านนิติบัญญัติ

กฎหมายสำคัญๆต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการองคมนตรีสภานี้

พระบรมราชโองการในการปฏิรูปกรรมการองคมนตรีสภานี้ กล่าวว่า การปฏิรูปคราวนี้มีจุดประสงค์เริ่มต้น คือ ทำให้การปฏิรูปขั้นต่อไปง่ายขึ้น

จัดเป็นการทดลองและฝึกฝนให้กรรมการองคมนตรีสภามีความเข้าใจกระบวนการรัฐสภา

จากคำประกาศนี้ ทำให้เราเข้าใจพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

กล่าวคือ คณะกรรมการองคมนตรีสภาเป็นการเตรียมการเพื่อพัฒนาระบบรัฐสภานิติบัญญัติในอนาคต

ซึ่งจะต้องปฏิรูปต่อไปอีกหลายขั้นตอน

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่า พระองค์ต้องการให้การเมืองพัฒนาไปเป็นระบบรัฐสภา

ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ (พ.ศ. ๒๔๗๔) เมื่อพระองค์เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตรนั้น

พระองค์ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ว่า ประเทศสยามจะมีรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญในอีกไม่นานนี้

เพราะฉะนั้น พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงจัดอยู่ในระดับขั้นเริ่มต้นของการเตรียมการไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยตามกระแสของโลก เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัยเลย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๒ (พ.ศ. ๒๔๗๕) ได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น

แต่ก่อนการปฏิวัติ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน

ในครั้งนั้น พระองค์ได้นำร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานไปด้วย

การยกร่างรัฐธรรมนูญฯนี้

เป็นผลงานของกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ โดยน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ในการนี้ เสนาบดีได้ปรึกษากับปลัดทูลฉลอง (พระยาศรีวิศาลวาจา/ผู้แปล) และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ (เรมอน บี. สตีเวนส์, Raymond B. Stevens/ผู้แปล) ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

โดยที่การยกร่างรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นความลับชั้นสูงสุด

ดังนั้น จึงไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเรียบร้อยและอยู่ในพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

...............

(2)

เรื่องที่เป็นความลับและไม่มีใครล่วงรู้ได้ดังกล่าวนับเป็นโชคชะตาของประเทศไทย”

จาก “บันทึกของทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ ๒๔๗๕: การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม
ยาสุกิจิ ยาตา เขียน, แปลโดย เออิจิ มูราชิมา มหาวิทยาลัยวาเซดะ และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า ๑๐-๑๑.

(2) ต้นฉบับร่างรัฐธรรมนูญ ดู กจช., 7 บ. 1.3/242 (กจช ย่อ จาก กองจดหมายเหตุแห่งชาติ) อ้างใน ชัยอนันต์ สมุทวนิช, การเมืองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย 2411-2475, (พ.ศ. 2523), หน้า 132.”


กำลังโหลดความคิดเห็น