xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูงและมีการปรับรูปแบบอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจึงต้องอาศัยกลยุทธ์ที่แยบยลและครอบคลุมในทุก ๆ มิติของผลกระทบจากคอร์รัปชัน มิเช่นนั้น ผลกระทบของบางมาตรการอาจจะน้อยมาก หรือแย่กว่านั้นคือ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแถมยังไปสร้างปัญหาอื่นเพิ่มเติมอีก ดังที่เราเคยเห็นจากแคมเปญต้านโกงในอดีต ที่ถูกต่อว่าอย่างมากในสังคมโซเชียล

วิธีการหนึ่งที่จะช่วยทำให้นโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นคือการนำความรู้ทางวิชาการมาช่วย ทั้งจากงานศึกษาวิจัยที่ผ่านมา การทดลองทางวิชาการใหม่ ๆ เพื่อทดสอบมาตรการก่อนนำไปใช้จริง หรือการออกแบบนโยบายบนพื้นฐานทฤษฎีของศาสตร์ต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge Hub for Regional Anti-corruption and Good governance Collaboration: KRAC) เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริต และการบริหารจัดการองค์ความรู้ งานวิจัย ผลงานทางวิชาการ เครื่องมือ และสื่อให้ความรู้เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพัฒนาขยายเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยกับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนาระบบสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพการต่อต้านคอร์รัปชันที่จะนำองค์ความรู้นวัตกรรม ผลงานทางวิชาการ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯ มาใช้ให้ประโยชน์สูงสุดในทางปฏิบัติ

ศูนย์ KRAC นี้ มีกลไกการดำเนินงานที่สำคัญ 4 ด้าน เพื่อสร้างระบบนิเวศของการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค โดยกลไกแรก คือ การเป็นศูนย์กลางความรู้ (Knowledge) ด้านการต่อต้านการทุจริต ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการองค์ความรู้ ผลงานทางวิชาการ หลักสูตร โครงการ นวัตกรรม สื่อให้ความรู้ และเครื่องมือต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชันที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อค้นหาแนวทางและสังเคราะห์แผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการคอร์รัปชัน อีกทั้งมุ่งสร้างต้นแบบสำหรับการศึกษาวิธีการรับมือกับปัญหาคอร์รัปชันให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน
 
กลไกที่สอง คือ การเป็นศูนย์กลางเครือข่าย (Network) ที่จะพัฒนาและขยายเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรมสู่ระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานร่วมกันของเครือข่ายภายใต้รูปแบบ Consortium ที่จะนำไปสู่การจัดการและการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านการต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศผ่านการจัดประชุมความร่วมมือเครือข่ายทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการผลิตผลงานทางวิชาการ หรือโครงการเชิงปฏิบัติการที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานในด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน

กลไกที่สาม คือ การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ (Join) ที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนและส่งเสริมการต่อยอดองค์ความรู้ให้ทางผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ชุมชน และสังคม สามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตการจัดการและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่และเวลาในแต่ละสังคม
 
และ กลไกสุดท้าย คือ การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learn) ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการให้บริการกิจกรรมทางวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม เช่น การจัดทำหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ หรือการเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกงานของนิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนทั่วไปรวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ศูนย์ KRAC ได้จัดงานเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา โดยได้เชิญ Professor Matthew C. Stephenson ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ ประจำวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School, Harvard University) ที่ขณะนี้เป็น visiting scholar อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “Opportunities and Challenge for Thailand to create a Center for Excellence in Anti-Corruption Research” (โอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการก่อตั้งศูนย์ความรู้เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน) โดยอาจารย์กล่าวถึงความสำคัญกลไกในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่จะก่อให้เกิดเครือข่าย 3 ระดับของความร่วมมือในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน

เครือข่ายที่หนึ่ง คือ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์ความรู้ (Knowledge) และการลงมือปฏิบัติจริง (Action) เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนในรายละเอียด รวมถึงมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากมีการทำงานในลักษณะที่ปราศจากความเชื่อมโยงกัน หรือหากมีเพียงแค่องค์ความรู้หรือการลงมือปฏิบัติจริงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งในการทำงาน ก็อาจทำให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ยากหรือทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ดังนั้น การมีสถาบันที่เข้ามาทำหน้าที่ช่วยในการประสานการทำงานของผู้ปฏิบัติงานจริงในแต่ละหน่วยงานเข้ากับองค์ความรู้ที่ถูกผลิตและศึกษาโดยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถ จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ทั้งจากการศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและการทำงานในเชิงสัมพัทธ์ระหว่างหน่วยงานที่มีความเชื่อมโยงกัน

ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยัง เครือข่ายที่สอง คือ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-corruption experts) และประชาชนที่เป็นบุคคลทั่วไป (Ordinary people) โดยที่ผู้เชี่ยวชาญจะมีบทบาทสำคัญในฐานะของการเป็นผู้รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันให้มารวมอยู่กันในพื้นที่เดียวกัน และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจและตระหนักถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่จำเป็นได้อย่างโปร่งใสโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และในขณะเดียวกันประชาชนที่เป็นบุคคลทั่วไปก็สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการรายงานปัญหาที่เกี่ยวกับการทุจริตที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวันให้กับผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่มีความสนใจที่จะศึกษาปัญหาคอร์รัปชันในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อที่จะนำประสบการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคลมาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้และคิดค้นเครื่องมือหรือนวัตกรรมสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชันต่อไป

และจะขยายผลไปสู่ เครือข่ายที่สาม คือ เครือข่ายความร่วมมือในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ เนื่องจากในปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน และในทุกพื้นที่ก็จะมีรูปแบบลักษณะของปัญหาการคอร์รัปชันที่แตกต่างกันไปตามบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การออกแบบเครื่องมือหรือวิธีการที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน จึงไม่สามารถทำในลักษณะที่เป็นวิธีการเดียวสามารถแก้ปัญหาทั้งหมด (One size fits all) ได้ และจำเป็นต้องศึกษาถึงบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งการก่อตั้งศูนย์ฯ จะถือเป็นโอกาสสำคัญในการที่ศูนย์ฯ จะทำให้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคที่เหมาะสมสำหรับการต่อต้านการคอร์รัปชันในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างความรู้สึกร่วมของการสนับสนุน (Sense of support) ในการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับหน่วยงานภาคีในเครือข่ายที่เดิมทีอาจจะเห็นว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ยากและเป็นไปไม่ได้ ให้เปลี่ยนเป็นความรู้สึกว่าที่ว่าภารกิจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่แต่ละหน่วยงานกำลังดำเนินงานอยู่นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง

นอกจากนี้ การก่อตั้งศูนย์ฯ จะยังก่อให้เกิดการไหลเวียนขององค์ความรู้ (Flow of knowledge) ที่ไหลเวียนแบบข้ามภาคส่วนและข้ามพื้นที่ ที่จะช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคอร์รัปชันแบบเจาะลึกในรายละเอียดว่าในแต่ละพื้นที่มีปัญหาการการทุจริตเกิดขึ้นในรูปแบบใด และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาล

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ในกระบวนการของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้ง 3 ระดับ ที่จะเกิดขึ้นจากการก่อตั้งศูนย์ฯ นี้ จะต้องเป็นการทำงานในลักษณะที่เป็นการทำอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยทุกคนในสังคมที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ และมีความตั้งใจและความพยายามในการทำงานด้านการต่อต้าน คอร์รัปชัน รวมถึงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานในการฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญทั้งในด้านการลงมือปฏิบัติงานและการต่อยอดองค์ความรู้ที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานเกี่ยวกับการเสริมสร้างความโปร่งใส และการส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อไปในอนาคต

ศูนย์ KRAC จะเป็นอีกหนึ่งในฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นผ่านกลไกการทำงานตามที่ได้อธิบายไปข้างต้นแล้ว จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านติดตามผลงานและการทำงานของศูนย์ฯ ได้จาก Facebook ของ HAND Social Enterprise ได้เลยนะครับ

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

(Advertorial)


กำลังโหลดความคิดเห็น