xs
xsm
sm
md
lg

“วิโรจน์” ลั่น ได้เวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็กอย่างจริงจัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิโรจน์” ลั่น ได้เวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กกับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็กอย่างจริงจัง กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องประกาศนโยบาย โรงเรียนที่ปลอดจากอำนาจนิยม และการกลั่นแกล้งรังแก

21 มิ.ย.2566 - นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ได้เวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็ก อย่างจริงจัง ]
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผมเชื่อว่า พวกเราทุกคนคงได้อ่านข่าว การที่ครูบางคน ใช้ความรุนแรงในการลงโทษ หรือกระทำกับนักเรียน จนนักเรียนได้รับบาดเจ็บทางกาย หรือทางใจ

- การสั่งให้นักเรียนลุกนั่ง เป็นร้อยครั้ง โดยไม่ตระหนักเลยว่า การลงโทษดังกล่าว จะเกินกว่าศักยภาพของเด็กจะปฏิบัติได้ หรือไม่ เอาความสะใจของตนเป็นที่ตั้ง จนทำให้นักเรียนกระดูกแตก กล้ามเนื้อฉีก

- จงใจกล้อนผมหรือใช้วิธีการใดๆ เพื่อตีตราประจาน ให้นักเรียนรู้สึกอับอาย จนเกิดเป็นบาดแผลในใจ

- พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยาม ข่มขู่ว่าจะเอาปืนมายิงนักเรียน

- พฤติกรรมที่ส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ คุกคามทางเพศ หรือล่วงละเมิดทางเพศ
ฯลฯ
.
การกระทำเหล่านี้ นอกจากจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้ว
.
ยังเข้าข่ายเป็นการกระทำทารุณกรรมเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 26 ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 78 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย
.
แต่ที่ผ่านมา กลับไม่มีการดำเนินคดีกับครูที่ก่อเหตุอย่างจริงจังเลย มีแต่การลงโทษทางวินัยสถานเบา พอเรื่องซา ครูคนเดิมก็กลับมาสอนอีก แล้วพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นปัญหา ก็เกิดขึ้นซ้ำกับนักเรียนคนอื่นๆ ไม่จบไม่สิ้น
.
ที่ผ่านมา เหตุผลที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาอย่างจริงจัง เป็นเพราะว่า

1) แม้ว่าเด็กจะร้องทุกข์เองได้ แต่ในทางปฏิบัติ การร้องทุกข์กล่าวโทษมักจะต้องดำเนินการโดยพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ซึ่งส่วนมากมักจะถูกกล่อม เชิงข่มขู่ จากผู้บริหารสถานศึกษาบางท่าน ให้พ่อแม่ไม่แจ้งความดำเนินคดี โดยมักจะอ้างว่า “ถ้าแจ้งความแล้ว เด็กอาจจะอยู่ในโรงเรียนไม่ได้” พอพ่อแม่ กังวลว่าลูกจะถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ก็จะยอมไม่แจ้งความ หลายกรณีแทนที่กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินคดีกับครูที่กระทำทารุณกรรมกับนักเรียน อย่างถึงที่สุด กลับทำตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อช่วยให้ครูที่กระทำความผิด ให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา กรณีที่พ่อแม่ยืนยันจะแจ้งความดำเนินคดี ส่วนใหญ่พ่อแม่ต้องย้ายลูกไปเรียนที่อื่น แปลกไหมครับ เด็กที่ถูกกระทำต้องย้ายหนี ในขณะที่ครูผู้กระทำ ยังคงสอนต่อไปที่โรงเรียนเดิม
.
2) คดีอาญาที่เกี่ยวกับเด็ก ในหลายกรณี ต้องมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนด้วย มีขั้นตอนในการทำงานเพิ่มเติม จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่อยากจะดำเนินคดี ตำรวจจึงมักจะไกล่เกลี่ย ให้ลงเพียงบันทึกประจำวัน
.
เรื่องการทารุณกรรมเด็ก หรือการใช้อำนาจนิยม หรือการใช้ความรุนแรงกับเด็ก นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ หลายครั้งนักเรียนถึงกับบาดเจ็บสาหัส บางรายเป็นบาดแผลในใจ จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หลายรายต้องเติบโตขึ้นมาอย่างมีปมในใจ
.
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง จะมีการวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของเด็กร่วมกัน โดยจะตระหนักร่วมกันว่า “เด็กทุกคน คือ ลูกของผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม” หากมีครูที่ไม่ดีบางคน ทำทารุณกรรมต่อเด็ก องค์กรพ่อแม่จะร่วมกันติดตาม เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับครูผู้ก่อเหตุอย่างถึงที่สุด และจะไม่ยอมให้ครูเหล่านี้กลับมาทำร้ายเด็กคนไหนได้อีก
.
เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่ง ในการปกป้องเด็ก โรงเรียนไหนที่สมาคมผู้ปกครองเข้มแข็ง โรงเรียนนั้นก็จะมีความก้าวหน้า เด็กๆ ก็จะได้รับการดูแลอย่างดี
.
ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องประกาศนโยบาย “โรงเรียนที่ปลอดจากอำนาจนิยม และการกลั่นแกล้งรังแก” ให้ชัดเจน ทำหน้าที่ในการปกป้องเด็กอย่างจริงจัง ขับเคลื่อนนโยบายนี้ ร่วมกับองค์กรครูต่างๆ
.
มีการอบรมซักซ้อมกับครูประจำการทั่วประเทศ เพื่อให้ครูเป็นกลไกสำคัญ ในการปกป้องนักเรียน
.
ครูส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับเด็กหรอกครับ และไม่คิดที่จะปกป้องครูบางคน ที่มีพฤติกรรมกระทำทารุณกรรมต่อเด็กด้วย ขอเพียงมีนโยบายที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากครูบาอาจารย์ทั่วประเทศ
.
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย ก็คือ การส่งเสริมการสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมขององค์กรพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็ง ในการปกป้องเด็กทุกคนในประเทศ
.
และนับจากนี้เป็นต้นไป หากพบว่าครูท่านใดมีพฤติกรรมกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก หากการสอบสวนแล้วพบว่ากระทำผิดจริง นอกจากจะมีการดำเนินการทางวินัยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และดำเนินคดีอาญา อย่างถึงที่สุด อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น