วันนี้(20 มิ.ย.)นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่น้องหยกว่า ตนได้ข้อมูลมาว่าแม่น้องหยกเองก็บอกคนที่ยุ ให้หยกเสียเด็ก เพราะหวังผลในตัวหยก ทั้งเงินบริจาค ออกทีวี ผุดใช้ล้มระบบเปลี่ยนแปลงสถาบันเรื่องนี้อันตรายมาก นิสัยแบบน้องหยก ไม่ใช่ในอดีตไม่มี แต่สื่อไม่สนใจ วันนี้สื่อถ่ายทอดอย่างกับเรียลลิตี้ ไม่ทราบว่า กรมประชาสัมพันธ์ ทำอะไรอยู่ปล่อยปะละเลย
"ผมเองคิดว่า พอเสนอให้หยกไปเรียน ก.ศ.น. คนในระบบ ก.ศ.น. ก็ไม่อยากให้มาเรียน เพราะกลัวมาป่วนระบบเขาอีก ทำให้ผมคิดว่าต้องรื้อฟื้น โรงเรียนดัดสันดาน ขึ้นมา หรือ โรงเรียนดัดจริต จะได้นำหยกมาปรับแนวคิด คืนหยกสู่แม่ตัวจริงของเขา เพราะทุกวันนี้ตัวแม่หยก ก็ออกมายอมรับว่า มีคนรอบตัวหยก หลอกใช้หยก ดังนั้นเรื่องนี้ต้องรีบจัดการเพราะ วันนี้มีคนใช้หยก เป็นหมากเดิน หวังผลล้มกระดาน ไม่ว่าจะล้มเลิกชุดนักเรียน ทรงผม และสุดท้ายหวังล้มสถาบัน นี้คือเหตุและผล ที่ต้องเลิกทำข่าวกับเด็กเหลือขอแบบนี้"
นายสามารถ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์แบบนี้มีมานานแล้ว ในอดีตเช่น กบฏผีบุญ โดยมีการปล่อยข่าวลือเช่น เงินของราษฎรที่มีอยู่จะกลายเป็นเหล็ก ให้พากันจัดแจงซื้อของเสียให้สิ้น เพื่อจะได้ไม่เป็นการเสียเปล่า จึงทำให้คนหลงเชื่อใช้เงินจดหมดเนื้อหมดตัว หรือความเชื่อที่ว่า หญิงสาวที่ยังไม่มีสามีให้ไปเที่ยวหาสามีเสีย และให้คิดเอาสินสอดแก่ชายแต่เพียง 1 อัฐ 1 โสฬส (1 อัฐ = 1.56 สตางค์, 1 โสฬส = 0.78 สตางค์, 1 อัฐ 1 โสฬส = 2.34 สตางค์) เท่านั้น ถ้าหญิงใดจะหาชายที่ยังไม่มีภรรยามิได้ จะยอมเป็นภรรยาชายที่มีภรรยาก็ได้ แต่ต้องเสียอัฐให้แก่ภรรยาเดิม (คือภรรยาหลวง) 4 อัฐ เป็นค่าซื้อสามีแก่กัน ถ้ามิฉะนั้นยักษ์จะกินเสียทั้งสิ้น
ดังนั้นช่วงนั้นหลายแห่งมีหญิงสาวที่เชื่อคำเล่าลือ ยอมเสียเงินให้หญิงที่มีสามีเพื่อซื้อสามี เพราะกลัวว่าหากไม่มีสามีจะถูกยักษ์กิน
"ผมจึงคิดว่าควรทำโรงเรียนดัดสันดาน หรือ โรงเรียนดัดจริตขึ้น โรงเรียนดัดสันดาน พื้นที่อบรมเด็กนิสัยชั่วร้ายให้กลายเป็นพลเมืองดี ซึ่งแต่เดิมคำว่าดัดจริต ไม่ได้มีมีความหมายในเชิงลบ แต่เป็นคำที่มีความหมายกลาง ๆ กล่าวคือ ทำจริตให้น้อมไปตามต้องการ โดยในสมัยก่อนจะมีโรงเรียนดัดจริต ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯนี่เอง และอีกโรงเรียนหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาชื่อว่า โรงเรียนดัดสันดาน โรงเรียนทั้งสองนี้จะแตกต่างกันก็เฉพาะเด็กที่เรียน โรงเรียนดัดจริต มีเด็กนักเรียนธรรมดา คือ นักเรียนที่พ่อแม่ส่งไปเรียนหนังสือเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กเกเรหรือไม่ การปกครองก็เป็นไปตามธรรมดาไม่ได้ใช้อำนาจอะไร"
นายสามารถ กล่าวต่อว่า โรงเรียนดัดสันดานรับเฉพาะเด็กนักเรียนที่เหลือขอ เป็นเด็กเกเรที่พ่อแม่ไม่สามารถบังคับสั่งสอนให้ดีได้แล้ว ก็จะส่งไปอบรมสั่งสอนที่โรงเรียนนี้ เพื่อที่จะดัดสันดานที่ไม่ดีให้ดีขึ้น โรงเรียนดัดจริต ที่เคยมีอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นเคยตั้งอยู่ที่วัดราชผาติการาม ส่วนโรงเรียนดัดสันดานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ถ้ากล่าวให้ถูกต้อง คือโรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับเด็กที่กระทำความผิดที่มีอายุยังไม่ครบ 18 ปี ซึ่งเดิมชื่อว่าโรงเรียนดัดสันดาน ที่ย้ายมาจากเกาะสีชัง ทั้งนี้โรงเรียนดัดสันดาน ก็คือคุกสำหรับเยาวชนนั่นเอง โดยในสมัยที่ประเทศไทยยังใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 การปฏิบัติต่อเด็กที่กระทำความผิด ศาลจะพิเคราะห์ถึงความรู้สึกผิดชอบของเด็กประกอบกับลักษณะของความผิดที่เด็กได้กระทำ แล้วจึงกำหนดโทษ ส่วนการควบคุมตัวเด็กที่กระทำความผิดนั้น จะควบคุมไว้ที่โรงเรียนดัดสันดาน
นายสามารถ กล่าวต่อด้วยว่า โรงเรียนดัดสันดาน ถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2450 และอยู่ภายใต้การดูแลของกองตระเวน กระทรวงนครบาล มีลักษณะ “เป็นคุกครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนครึ่งหนึ่ง” ทำหน้าที่ควบคุมและดัดสันดานเด็กเกเร และเด็กเร่ร่อน ที่สมัยนั้นเรียกว่า “เด็กกลางถนน” และ“เด็กหน้าโรงบ่อน” ที่คึกคะนองและสร้างความวุ่นวายในสังคมเมือง รวมถึงมีแนวโน้มจะกลายเป็นโจรผู้ร้ายในอนาคต อย่างไรก็ตามโรงเรียนดัดสันดานในยุคต้นนั้น ประสบปัญหาการดำเนินงานที่ไม่เป็นระบบตามหลักวิชา ทำให้โรงเรียนดัดสันดานที่เกาะสีชังมีสถานะเป็นคุกกลางทะเล มากกว่าเป็นสถานศึกษาสำหรับปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นดังโอวาทของพระยาพหลพลหยุหเสนาว่า
“ประเทศที่มีความสิวิไลส์ทั้งหลายได้มีการอบรมเด็กที่มีนิสสัย ชั่วร้ายให้เป็นเด็กดี เป็นพลเมืองดี และเป็นกำลังของประเทศชาติ เจ้าก็เป็นเด็กอยู่ในประเทศสยามซึ่งเป็นประเทศที่ได้ย่างเข้าสู่ความสิวิไลส์แล้ว จะต้องตั้งใจรับการอบรมสั่งสอนของผู้บังคับบัญชาจะได้เป็นพลเมืองดีเป็นกําลังของประเทศชาติของเราสืบต่อไปในภายหน้า”
"ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ รัฐบาล จะผุดวิธีการนี้มาใช้อีกครั้ง เพื่อทำให้สังคมอยู่ได้ และ จะไม่เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จนเป็นไฟลามทุ่ง"