มหาดไทย เร่งท้องถิ่นทั่วประเทศ ตรวจคุณสมบัติ “ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำ” ที่ยื่นขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำปี 2566 โดยเฉพาะผู้ถึงแก่กรรม-ลาออกจากราชการ ก่อนวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ให้หน่วยงานต้นสังกัด แจ้งถอนรายชื่อออกจากบัญชีโดยด่วน ย้ำ! ผู้ที่มีรายชื่อทุกราย ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามระเบียบสำนักนายกฯ ปี 64
วันนี้ (19 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) เวียนหนังสือแจ้งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
เร่งตรวจสอบคุณสมบัติการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ของข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ ที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. ประจำปี 2566
ก่อนรายงานกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 7 ก.ค.นี้
โดยเฉพาะกรณีมีผู้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ถึงแก่กรรม หรือ ลาออกจากราชการ” ก่อนวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2566
“ให้แจ้งรายชื่อบุคคลดังกล่าว เพื่อดำเนินการถอนรายชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้ขอพระราชทาน โดยด่วน”
หากเป็นกรณีใกล้ถึงกำหนดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว ให้รีบประสานงานเป็นการภายในเพื่อขอแก้ไขบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอฯ ซึ่งผู้ที่มีรายชื่อทุกราย จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 12 และข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2564 ดังนี้
1) เป็นผู้เคยมีพระบรมราชโองการ หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เว้นแต่ได้รับพระราชทานคืนในภายหลัง
2) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
3) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรืออยู่ระหว่างพิจารณาโทษทางวินัย หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย
4) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกกล่าวหา ว่ากระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวน ของพนักงานสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการคำเนินคดีอาญาในศาล หรือได้มีคำพิพากษาแล้วคดียังไม่ถึงที่สุด
เว้นแต่พนักงานอัยการรับแก้ต่างคดีนั้น หรือเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือ ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว
5) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและอยู่ระหว่างการไต่สวน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
หรืออยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
6) เป็นผู้ถูกลงโทษทางวินัย
7) มีผลการประเมินการปฏิบัติราชการหรือการปฏิบัติงานตามภารกิจที่กฎหมายกำหนด ต่ำกว่าระดับดี
เว้นแต่เป็นการขอพระราชทานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งหรือระยะเวลา เลื่อนชั้นตราเกินกว่าห้าปีบริบูรณ์ ให้พิจารณาผลการประเมินดังกล่าวในระยะเวลาห้าปี
8) การเสนอขอพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา ต้องรับราชการมาด้วยความเรียบร้อย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 25 ปี
ซึ่งจะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา ดังนี้
8.1) กรณีกระทำผิดทางวินัยแต่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ข้าราชการผู้นั้น จึงยังมีความผิด
เพียงแต่ให้ถือว่าบุคคลนั้น มิได้เคยถูกลงโทษมาก่อนเมื่อยังมีความผิดติดอยู่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้รับราชการมาด้วยความเรียบร้อย
8.2) กรณีข้าราชการอยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจะต้องผ่านขั้นตอน การสืบสวนแล้วว่ามีมูลความผิด
แม้ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นผู้รับราชการมาด้วยความเรียบร้อย
จึงยังไม่มีคุณสมบัติที่จะเสนอขอพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา สมควรให้ชะลอการเสนอขอพระราชทานไว้ก่อน จนกว่าผลการสอบสวนทางวินัย เป็นที่ยุติว่า มิได้กระทำความผิด
ซึ่งมิได้เป็นการตัดสิทธิในการเสนอขอพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาแต่อย่างใด
8.3) กรณีผลการสอบสวนทางวินัยเป็นที่ยุติแล้ว และข้าราชการผู้นั้น ได้รับการงดโทษ ทางวินัย
โดยให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมไม่อาจถือได้ว่าข้าราชการผู้นั้นรับราชการมาด้วย ความเรียบร้อย และไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเสนอขอพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา แต่อย่างใด.