xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทย วืด ปธ.สภา “พิธา” ก็วืดนายกฯ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - ภูมิธรรม เวชยชัย
เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้หากพูดถึงเรื่องเฉพาะหน้าก่อน สำหรับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำนั้น ก็ต้องบอกว่าย่อมต้องหมายถึงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมไปถึงกำหนดการประชุมสภา กำหนดวาระการประชุมกฎหมายต่างๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภา ดังนั้น ตำแหน่งดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญ รวมไปถึงมีผลไปถึงพรรคแกนนำในพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

แน่นอนว่า แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำ แต่ด้วยจำนวนคะแนนเสียงที่ไม่ชนะขาด ก็ต้องพึ่งพาพรรคอันดับสอง คือ พรรคเพื่อไทย จึงถือว่า เพื่อไทย เป็น “ตัวแปร” สำคัญ ที่ก้าวไกลจะขาดเพื่อไทยไม่ได้ หากพิจารณาจาก “ข้อกำจัด” ที่ก้าวไกลกำหนดขึ้นมา และรัดคอตัวเอง ขณะที่หันไปมองทางฝั่งเพื่อไทยบ้าง ถือว่า มีความ “ยืดหยุ่น” ได้มากกว่า จนทำให้กุมความได้เปรียบในลักษณะ “ขี่คอ” ได้ตลอดเวลา

ดังนั้น ก่อนที่จะไปถึงเรื่องที่จะมี ส.ว.โหวตหนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ครบจำนวน 376 เสียง เพื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ หรือว่าเรื่องข้อร้องเรียน เรื่อง “ถือหุ้นสื่อ” จะผ่านวิบากกรรมตรงนี้ได้หรือเปล่านั้น ถือว่าเป็นขั้นตอนต่อไป หลังจากต้องมีการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ได้เสียก่อน ซึ่งตำแหน่งประธานสภา นี่แหละจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเฉพาะหน้าก่อน และสำคัญต่ออนาคตของทั้งสองพรรคดังกล่าว ทำให้ต้องมีการต่อรองกันมานาน และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ เพราะต่างฝ่ายยังยืนกรานว่า ต้องเป็นของตัวเอง ทำให้การเจรจาต้องหยุดนิ่งชั่วคราว

และจะว่าไปแล้ว หากตำแหน่งประธานสภาไม่ลงตัว การเจรจาในเรื่องอื่นๆ เช่น โควตารัฐมนตรี กระทรวง รวมไปถึงเรื่อง “นโยบายร่วม” ต่างๆ ก็คงไม่อาจเดินหน้าได้เต็มตัว อย่างมากก็จะเป็นลักษณะ “คร่าวๆ” เท่านั้น

หากโฟกัสกันที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ล่าสุด ทั้งสองพรรคยังไม่ยอมถอย เพราะถือว่ามีผลต่ออนาคตของพรรคตัวเอง โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งยืนยันจากท่าทีของทั้งสองฝ่าย

นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล บอกว่า พรรคก้าวไกลต้องการตำแหน่งประธานสภา เพราะมีงานที่อยากผลักดัน ส่วนกระบวนการหารือระหว่างพรรค ต้องพูดคุยให้เรียบร้อย แต่ยังไม่ได้รับรายงานผลการเจรจาว่าเป็นอย่างไร แต่ยืนยันว่าพรรคก้าวไกล จะทำหน้าที่ประธานสภา

ส่วนจะมีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล หรือไม่ ตนยังไม่เห็นว่ามีปัญหา ทุกเรื่องต้องพูดคุยกัน ไม่มีทางเห็นตรงกัน 100% เพียงแต่จุดไหนที่สองฝ่ายต้องการ ต้องหาทางพูดคุยกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพรรคเห็นเป้าหมายใหญ่ที่จะเดินไปร่วมกัน จึงไม่กังวลเรื่องความผิดใจกัน

ส่วนแนวโน้มการรวมเสียง ส.ว. นายรังสิมันต์ เผยว่า ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่จะจบอย่างไร ต้องไปดูวันโหวต ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะปิดสวิตช์ มาตรา 272 ได้สำเร็จ

“มาตรา 272 เป็นกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายและจะหมดอายุปีหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่รู้จะให้มาตรา 272 แผลงฤทธิ์ตอนนี้ไปทำไม คิดว่าเดินหน้าด้วยการเคารพการตัดสินใจของประชาชนจากวันที่ 14 พ.ค. ในทางออกที่ดีที่สุด เป็นการชี้แจงด้วยเหตุและผลหลายฝ่ายรับฟัง”

นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า จากการพูดคุย บางส่วนขอเวลาตัดสินใจ แต่เท่าที่ทราบ ก็มีสัญญาณบวกในเรื่องนี้ พร้อมเชื่อมั่นว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวว่า พรรคก้าวไกล และ เพื่อไทย ตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย แต่ยังไม่ได้ระบุตัวบุคคลว่า เรื่องดังกล่าวทุกอย่างยังคงเป็นเหมือนที่ตนเคยให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ ว่า ตั้งแต่คุยกันครั้งก่อน ที่พรรคเพื่อไทยเสนอไปว่า อยากได้ตำแหน่งดังกล่าว แล้วพรรคก้าวไกล จะนำไปหารือภายในเพื่อแจ้งความเห็นของพรรคก้าวไกลกลับมา ตอนนี้เรายังคงรอคำตอบดังกล่าวอยู่ ซึ่งจากการสอบถามไปยัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในส่วนของพรรคเพื่อไทยร่วมกับตน ยังไม่มีการประสานกลับมาจากพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด เรื่องนี้ อยากให้ทั้งสองพรรคคุยกันให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยสรุป

“ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าจากจุดเดิม ส่วนตัวมองว่า ประเด็นเหล่านี้ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ทั้งคู่ ยังหารือกันไม่มากพอ เราต้องเร่งหารือกันเพื่อให้ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไปให้ได้ ส่วนประเด็นเรื่องนโยบายต่างๆที่จะขับเคลื่อนที่ทุกพรรคให้ความสำคัญนั้น มองว่าสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้”

เมื่อถามถึงกรณี นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาระบุตำแหน่งประธานสภา ควรเป็นของพรรคก้าวไกล เพื่อขับเคลื่อนงานในสภา นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นของนายรังสิมันต์ ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้คนอื่นไม่ควรแสดงความคิดเห็น รอให้การหารือของสองพรรคจบเรียบร้อยก่อนจะดีกว่า เพราะเมื่อการหารือยังไม่จบแล้วออกมาพูดเช่นนี้นั้น ตามมารยาททางการเมืองเขาไม่ทำกัน รอให้คนที่มีหน้าที่ในการหารือจริงๆ ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนจะดีกว่า และตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็รอคำตอบอยู่

ถือว่าชัดเจนจากทั้งสองพรรค ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ยังไม่ได้ข้อยุติ ความหมายก็คือ ทั้งคู่ต่างก็ไม่ยอมถอย แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามเงื่อนไขแล้วถือว่าพรรคเพื่อไทย “ยังได้เปรียบ” และมีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ในที่สุดแล้ว อาจลากไปถึงการเสนอชื่อ “โหวตแข่งขัน” ในสภา แต่ขณะเดียวกัน หากเป็นแบบนั้นมันก็จะส่งผลถึงความ “ง่อนแง่น” ในสถานะของรัฐบาลผสมเป็นลูกโซ่อีกด้วย

หากมองจากท่าทีมาตลอดจะเห็นว่าสำหรับตำแหน่งประธานสภาแล้ว พรรคเพื่อไทย ยืนกรานอย่างมั่นคงมาตลอดว่า “ต้องได้” ในเมื่อเก้าอี้นายกฯเป็นของพรรคก้าวไกลแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องเป็นของพรรคที่เป็นอันดับสอง ในลักษณะที่เสียงชนะกันไม่ขาดห่างกันไม่กี่เสียง และตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของพรรคอีกด้วย เพราะอย่างที่รู้กัน ก็คือ พรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องเสียงโหวตจาก ส.ว.จากปัญหา ม.112 รวมถึงความไม่ไว้วางใจในหลายเรื่อง หากปล่อยให้โหวตไปสองสามครั้งแล้วยังไม่ผ่าน ก็มีโอกาสที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตคนใหม่

หรือหากมองในแง่บวก คือ หาก ส.ว.โหวต นายพิธา ผ่าน ก็ยังต้องเจอด่านที่สองคือ “ปมถือหุ้นสื่อ” แม้ว่าตามขั้นตอนจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก็ตาม แต่หากโดน “สอย” มันก็คือเสี่ยง และก้าวไกล มีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพียงคนเดียวเท่านั้น แบบนี้แคนดิเดตนายกฯก็ส้มหล่นไปที่พรรคอันดับสอง คือ เพื่อไทย หรือเปล่า

หากมองจากท่าทีจนถึงวันนี้ ต่างฝ่ายก็ไม่ยอมถอย แม้ว่าล่าสุดการประชุมระดับหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ที่เดิมกำหนดประชุมกันในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ก็ต้องเลื่อนออกไป อ้างว่าต้องรอผลการรับรอง ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะประกาศรับรองในวันที่ 21 มิถุนายน เป็นต้นไปก่อน มองในมุมนี้ ก็อาจฟังขึ้น เพราะจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

อย่างไรก็ดี หากมองถึงทิศทางการเมืองแล้ว ตราบใดที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ โอกาสที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกฯ ก็เป็นไปได้ยาก และนาทีนี้ ถือว่าพรรคก้าวไกลเสียเปรียบอย่างมาก เพราะเมื่อถึงเวลาโหวตเลือกนายกฯ มันก็ยังเสี่ยงสูงที่จะไม่ผ่าน เพราะ ส.ว. ไม่โหวตให้ หรือ ไม่ก็ใช้วิธี “ปิดสวิตช์” ตัวเอง “ส้ม” ก็จะหล่นมาที่เพื่อไทย ทั้งขึ้นทั้งล่อง ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงขั้นตอนเฉพาะหน้าตรงนี้ก่อน ส่วนขั้นตอนต่อไปค่อยมาว่ากัน เพราะถึงตอนนั้นพรรคเพื่อไทย จะพลิกกลับมาเป็นคนกำหนดเกมอย่างแท้จริงแล้วว่าจะเลือกขั้วไหน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น