นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นกรณีที่ข้อกฎหมาย เปิดช่องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สามารถยื่นคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ โดยนายสามารถ ชี้แจงว่า อาจเป็นความเข้าใจผิดของนายวิษณุ เพราะแม้จะผ่านการทำงานมาหลายรัฐบาลก็ตาม แต่ข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา82 ระบุชัด ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน10 ของสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มี ในแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อ ร้องต่อประธาน ถึงความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกของสภาคนนั้นๆ จะสิ้นสุดลงตาม ม.101 (3)(5)(6)(7)(8)(9)(10)(12) หรือตามมาตรา 111(3)(4)(5)(7) หรือ แล้วแต่กรณี แล้วส่งเรื่องให้ประธานได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบสมาชิกภาพว่าจะสิ้นสุดลงหรือไม่ หากปรากฎเหตุอันควรก็ให้ศาลสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัย พร้อมกับแจ้งกลับไปยังประธานสภาฯ หากสมาชิกสภาสิ้นสมาชิกภาพ สมาชิกคนนั้นก็พ้นตำแหน่ง นับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที นั่นก็หมายความว่า สมาชิกในแต่ละสภาสามารถเข้าชื่อเพื่อตรวจสอบสมาชิกของสภานั้นได้ ไม่สามารถข้ามไปมาระหว่าง 2 สภาได้ ขณะที่ กกต. มีอำนาจเรื่องนี้ชัดเจน ที่จะส่งให้ทั้ง ส.ส. และ สว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ
“ผมเลยงงว่า คุณพิธา เป็น ส.ส.น่ะครับ อ.วิษณุ อยู่มาหลายรัฐบาล ผ่านรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ แต่ท่านอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ รธน. ระบุชัด ว่า วุฒิสภา 250 คน เข้าชื่อ 1ใน10 คือจำนวน 25 คน สามารถตรวจสอบ ส.ว.ได้ว่า คนไหนขาดคุณสมบัติ ส่วน ส.ส. 500 คน 1ใน 10 คือจำนวน 50 คน ว่า ส.ส.คนไหนขาดคุณสมบัติหรือไม่ แล้ว ส่งให้ศาล วินิจฉะย ฉนั้นการจะให้ สว.ไปตรวจสอบ ส.ส.ไม่น่าใช่น่ะครับ”
นายสามารถ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า กรณีของนายพิธามีความคล้ายกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตไกล ซึ่งก่อนหน้านเคยถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถือหุ้นสื่อ ในขณะที่นายพิธา ก็ถือหุ้นสื่อเช่นเดียวกัน แต่ยังต้องรอการวินิจฉัยของศาลก่อนว่าไอทีวี ยังเป็นสื่อหรือไม่ ดังนั้นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยังมีสิทธิ์เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่จะได้รับเลือกหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง