xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา”เสียความมั่นใจ โดนขุดคุ้ยเพิ่ม !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
เมืองไทย 360 องศา


คำกล่าวที่ว่าบางคนไม่รู้จักตัวเองมากพอเท่ากับตอนที่มาลงเล่นการเมือง หรือเมื่อกลายเป็นนักการเมืองดาวเด่น เมื่อนั้นแหละก็จะรู้เลยว่าตัวเองเคยทำอะไรมาบ้าง จนบางครั้งหลายเรื่องราวที่ตัวเองหลงลืมไปแล้ว กลับต้องมาเจอกับการขุดคุ้ยขึ้นมาใหม่ เรียกว่า “ไส้กี่ขด” ก็ลากออกมาให้เห็นในแบบที่คาดไม่ถึง


ขณะเดียวกัน หากในมุมการตรวจสอบถือว่าเป็นข้อดี ยิ่งการเป็นนักการเมืองย่อมต้องถูกตรวจสอบให้เข้มข้นกว่าใคร และสำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังอยู่ในบรรยากาศการตรวจสอบดังกล่าว อย่างเข้มข้น จนเจ้าตัวก็อาจคาดไม่ถึงว่าจะโดนขนาดนี้ อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษตัวเองด้วยว่า “ไม่รอบคอบ” รวมไปถึงกุนซือด้านกฎหมายใกล้ตัว ที่ไร้ประสบการณ์ ไร้ความสามารถหรือเปล่า เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่กลับไม่คิดแก้ไขเอาไว้ล่วงหน้า

แน่นอนว่า สำหรับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เวลานี้กำลังเจอปัญหาหลายปัญหา โดยเฉพาะกรณี “ถือหุ้นสื่อ” โดยกำลังถูกร้องเรียน เรื่องถือหุ้นไอทีวี แม้ว่าจะว่าไปแล้วกรณีดังกล่าวถือว่าเป็น “ด่านสอง” เพราะ “ด่านแรก” ที่เขาต้องฝ่าไปในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีก็คือ“ด่านส.ว.” ที่ต้องการเสียงโหวตให้ได้ไม่ต่ำกว่า 64 เสียง เพื่อให้ครบ 376 เสียง แต่ด้านเรื่องถือหุ้นสื่อดังกล่าวแม้จะมาทีหลัง เนื่องจากต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ อย่างน้อยก็ต้องหลังจากได้รับการรับรองเป็น ส.ส.ก่อน ก็จะเข้าสู่กระบวนการศาล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนน่าจะสรุปกันในต้นปีหน้า แต่มันมีผลร้ายแรง ทางด้านคดีอาญา และเสี่ยงต่อการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึง 20 ปี

และในระยะหลังมานี้ การถือหุ้นสื่อดังกล่าวทำให้นายพิธา “เสียอาการ” ในลักษณะวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยเท่าที่เห็นล่าสุด ก็เริ่ม “หลบหน้าสื่อ” ไม่อยากตอบคำถาม เหมือนกับเมื่อ วันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่พรรคก้าวไกล เขาก็หลบไปขึ้นรถกลับออกไปไม่ยอมให้สัมภาษณ์เหมือนทุกครั้ง

อย่างไรก็ดี สำหรับปมถือหุ้นสื่อ ประเด็นที่นายพิธา พยายามต่อสู้ก็คือ ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว หรือ “จอดำ” มาตั้งนานแล้ว ล่าสุดก็มีหลักฐานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่มีการซักถามว่ายังประกอบธุรกิจสื่อหรือไม่ ได้รับคำตอบยืนยันว่าไม่ได้ทำแล้ว อะไรประมาณนี้ ประกอบกับเมื่อตอนแรกๆ ก่อนหน้านั้น ตอนที่ถูกร้องเรียนใหม่ๆ นายพิธา ก็เคยตอบคำถามสื่อว่า เป็น “ผู้จัดการมรดก” ไม่ได้ถือหุ้นโดยตรง และจำนวนหุ้นที่ถือ 42,000 หุ้น ที่ว่านั้นเคยปรึกษาฝ่ายกฎหมายของพรรคแล้วได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีปัญหา เพราะไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว

แต่ก็ได้รับการโต้แย้งว่า การจะประกอบกิจการสื่อในปัจจุบันหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่า ได้มีการจดทะเบียน หรือมีการ “แจ้งยกเลิก” หรือไม่ต่างหาก ซึ่งมีตัวอย่างกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต ส.ส.และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ “เกม” ด้วยการถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ที่ไม่ได้แจ้งยกเลิกเช่นเดียวกัน และตามกฎหมาย แม้ว่าถือหุ้นสื่อเพียง “หนึ่งหุ้น” ก็ถือว่าผิด ขาดคุณสมบัติการรับสมัครส.ส. และมีคุณสมบัติต้องห้าม ส่งผลไปถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกด้วย

เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร้องเรียนการถือหุ้นสื่อของนายพิธา เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติม ประกอบการพิจารณากรณี กกต.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดนายพิธา ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตาม มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยเป็นคำชี้แจงของนายพิธา ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว รายงานการโอนหุ้นไอทีวี ของนายพิธาไปยัง นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 สำเนาหมายเหตุประกอบงบการเงิน ของ บริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.66

“ที่กำลังถกเถียงกันในขณะนี้เกี่ยวกับรายงานการประชุมไม่ตรงกับคลิปวิดีโอ ที่มีการเผยแพร่ออกมา ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะต่อให้บันทึกไม่ตรง หรือไม่มีการถาม หรือมีการถามมากกว่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้ข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญ หรือข้อเท็จจริงที่นำมาร้อง เปลี่ยนไป เพราะกฎหมายกำหนดว่า ผู้จะลงสมัครส.ส.ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ผมก็มีหลักฐานเป็นใบ บมจ.6 ที่ปรากฏชื่อ นายพิธาถือหุ้น และยังพบว่า มีการเปลี่ยนที่อยู่ถึง 3 ครั้ง ในฐานะที่ท่านมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น จะอ้างว่าไม่ทราบรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะส่งให้กับผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ก็เป็นเรื่องของท่าน หรือจะแก้ว่า ถือในนามใครก็เป็นสิทธิของนายพิธา”

นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดถึงหุ้นที่มีลักษณะต้องห้าม ไม่ต้องเรียนกฎหมาย อ่านแล้วก็แปลความหมายออก กฎหมายเขียนว่า ห้ามไม่ให้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด สิ่งที่จะนำมาตอบประเด็นนี้คือ วัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ทำกิจการสื่ออยู่ประมาณ 4-5 ข้อ และหลังถูกบอกเลิกสัญญากับสำนักปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี (สปน.) วัตถุประสงค์ในการทำสื่อของบริษัท ก็ยังคงมีอยู่ โดยดูได้ในรายงานการประชุม ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2559-2561 มีการระบุ เรื่อง การมองหาเป้าหมายในการจะเป็นผู้ประกอบกิจการเทเลคอมมีเดีย และเทคโนโลยี อยู่แล้ว จนมาถึงรายงานตามงบการเงิน ไตรมาส 1 วันที่ 24 ก.พ. ระบุชัดว่าบริษัทมีการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับสื่อ

“ที่บอกว่าผมไปสมคบทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วมาร้องในวันที่ 10 พ.ค.66 อยากถามว่า วันนั้นยังไม่มีใครรู้เลยว่าพรรคก้าวไกล จะได้คะแนนกลับมาขนาดนี้ และถ้าไปดูในรายงาน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คนถือหุ้นต้องเห็น มันระบุชัดว่าเขามีแผนที่จะทำสื่ออยู่ตลอด และตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่านายพิธา ถือหุ้นอยู่ แล้วนายพิธา ถือหุ้นไอทีวี ตั้งแต่ปี 2559 แต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ทำไมไม่แจ้งการถือหุ้นนี้ ต่อ ป.ป.ช.ทันที ทำไมถึงต้องมาแจ้งในภายหลัง เพราะต้องการไม่ให้มีการตรวจสอบใช่หรือไม่ วันนี้การยื่นบัญชีของส.ส. ที่พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.66 นายพิธา ก็ขอเลื่อน

ผมก็อยากขอเรียกร้องในฐานะที่ท่านพูดเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็ขอให้มีการนำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์เลย มีเงินฝาก เงินลงทุนเท่าไหร่ การค้ำประกันหนี้ส่วนต่างมีจำนวนเท่าใด ทรัพย์ที่อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดก มีอะไรบ้าง และนอกจากหุ้นไอทีวี ยังมีหุ้นตัวอื่นด้วย และได้มีการยื่นต่อป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะมีแค่หุ้น น่าจะมีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย”

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อบริษัทมีแผนทำสื่อมาตั้งแต่ปี 59 ทำไมเพิ่งมาทำธุรกิจสื่อใน 24 ก.พ.66 ซึ่งกำลังจะเลือกตั้ง นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนไม่สงสัยเพราะเขามีแผนมาตั้งแต่ปี 60 และต้องไปถามไอทีวี ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการยุบสภา ยังไม่รู้ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง แลนด์สไลด์ มีใครคิดจะสกัดหรือ ส่วนที่มองว่ามีขบวนการ ให้ลงสื่อ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ไอทีวี ถูกฟื้นเป็นสื่อ หวังเล่นงานนายพิธากับพรรคก้าวไกล ก็ขอให้เอาข้อมูลตรงนี้ไปชี้แจงต่อ กกต. มาชี้แจงตรงนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

น่าสังเกตก็คือ การเคลื่อนไหวของ นายเรืองไกร ครั้งนี้ เหมือนกับว่า เขายังมีข้อมูลหลักฐานอีกหลายอย่างของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็นทรัพย์สิน เช่น เงินฝาก เงินลงทุน รวมไปถึงการค้ำประกันหนี้ส่วนต่างเป็นต้น เหมือนกับว่ายังไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป.ป.ช. เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทาง ป.ป.ช.ได้เปิดเผยว่า นายพิธา ได้แจ้งขอขยายเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินออกไปอีก 30 วัน หลังจากต้องยื่นหลังจากพ้นตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่มีเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ ที่ดูเหมือนมัดแน่น เข้าไปทุกที และยังดูเหมือนว่า ยังมี “เรื่องเด็ด” เข้ามาอีก นอกเหนือจากการ“ถือหุ้นสื่อ” ที่หนักหนาสาหัสอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะอาจจะเข้าข่าย “ปกปิดทรัพย์สิน” ไม่ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช. ถึงได้บอกว่า บางครั้ง หลายคนอาจยังไม่เคยรู้จักตัวเองจนกระทั่งมาเป็นนักการเมือง ถูกขุดคุ้ย ถึงได้รู้ว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง บางคนเคยแต่กล่าวหาตรวจสอบคนอื่นอยู่วงนอก แต่เมื่อมายืนอยู่แถวหน้าก็ต้องโดนหนักแบบที่เห็นจนเสียความมั่นใจหรือเปล่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น