xs
xsm
sm
md
lg

“Home Coming พาใจกลับบ้าน” ทางเลือกช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตในสังคมวันทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. จัดนิทรรศการ “Home Coming พาใจกลับบ้าน” นวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ 5 โซน ทางเลือกช่วยคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน มูฟออนจากภาวะหมดไฟ-เครียด-ซึมเศร้า มุ่งลดเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูล Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2566 พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ วัยทำงาน มีภาวะหมดไฟ (Burnout) สาเหตุส่วนหนึ่งจากการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่แบบลูกผสม (Hybrid) ทำให้เสียสมดุลชีวิตกับการทำงาน เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เจอภาวะกดดันจากการทำงาน กลายเป็นความเครียดสะสม นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ที่สำคัญยังพบข้อความที่กล่าวถึงความเครียดจากการทำงานในสื่อโซเชียลมีเดีย ระหว่าง มี.ค. - ก.ย. 2565 ถึง 18,088 ข้อความ ในจำนวนนี้ ต้องการลาออกจากงาน 54% สะท้อนถึงการขาดวิธีการจัดการชีวิตและการทำงานที่สมดุล ตอกย้ำแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตใจของวัยทำงานที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งรวบรวมองค์ความรู้ พัฒนาเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบนิทรรศการ "Home Coming พาใจกลับบ้าน" เพื่อสร้างประสบการณ์และทักษะชีวิตให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ได้ตระหนักถึงทางเลือกในการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจ ผ่านงานศิลปะที่ออกแบบให้เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ (Humanbeing) 5 โซน 1. สำรวจอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง 2. ปล่อย ขยับร่างกายไปพร้อมๆ กับจิตใจ 3. กอด สัมผัสแสง เสียงของชิ้นงาน สร้างความมั่นคงในใจ 4. นอน เอนกาย มองแสงประกายน้ำ เพื่อความผ่อนคลาย 5. ฟัง เสียงที่อยู่รอบตัว คลายความโดดเดี่ยว เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้ได้สำรวจจิตใจตนเองไปด้วยกัน” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว

นางเบญจมาภรณ์ กล่าวอีกว่า ภายในนิทรรศการมีการฉายสารคดี “Mentalverse จักรวาลใจ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตกลุ่มคนที่ต่างวัย 5 คน 5 ภาวะซึมเศร้า สะท้อนให้เห็นทางออกของปัญหาด้านจิตใจที่มีผลกระทบมาจากครอบครัวและสังคม ทั้งนี้ นิทรรศการจะจัดขึ้นตลอดเดือน มิ.ย. 2566 ที่บริเวณชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก กรุงเทพฯ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เว็บไซต์ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/ และแอปพลิเคชัน Persona Health








กำลังโหลดความคิดเห็น