เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าในวันอังคารที่ 30 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ พรรคก้าวไกล มีกำหนดนัดหมายหารือเป็น “วงเล็ก” กับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดก็ตาม เพื่อหาข้อสรุปในเบื้องต้นสำหรับปัญหาใหญ่ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ แน่นอนว่านอกเหนือจากเรื่องตำแหน่งโควตารัฐมนตรี การแบ่งกระทรวงแล้ว เชื่อว่าต้องมีเรื่องเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังแย่งกัน รวมอยู่ด้วยแน่นอน
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากท่าทีในตอนนี้แล้วยังไม่พบสัญญาณถอยของแต่ละฝ่าย คือ ฝ่ายพรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย มีแต่เดินหน้าอ้างความชอบธรรมกันทั้งเต็มที่ โดยมีบรรดาผู้สนับสนุน แฟนคลับ เข้ามาผสมโรงแบบดุเดือด ไม่ลดราวาศอกกันเลย แต่จากการประเมินสถานการณ์ที่เห็นแล้ว ต้องบอกว่า พรรคเพื่อไทยมีความ “ได้เปรียบ” อยู่หลายขุม ที่จะสามารถยึดครองเก้าอี้ประธานสภาไปครองในที่สุด
สำหรับปฏิกิริยาของแต่ละฝ่าย ที่ย้ำว่าไม่ถอยนั้น เริ่มจากฝั่งก้าวไกลก่อน โดยก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเพจ ของพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ ประเด็น 45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลพร้อมผลักดันในสภา ระบุว่าเป็นสัญญาประชาคมที่พรรคให้ไว้กับประชาชน หากได้เป็นรัฐบาล จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลให้สำเร็จ เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
ช่องทางในการผลักดัน 300 นโยบาย นอกจากอาศัย “กลไกอำนาจบริหาร” ผ่านการบรรจุนโยบายเข้าไปในวาระ “ร่วม” หรือ MOU จัดตั้งรัฐบาลให้ได้เยอะที่สุดแล้ว อีกช่องทางหนึ่งซึ่งพรรคก้าวไกลพูดมาตลอดว่าจะใช้ ไม่ว่าเราจะได้เป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน คือ การผลักดันนโยบายผ่าน ‘กลไกนิติบัญญัติ’ โดยมีร่างกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับ เตรียมยื่นต่อสภาฯ แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
1. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเมือง 11 ฉบับ เช่น ปฏิรูปกองทัพ เอาทหารออกจากการเมือง และป้องกันรัฐประหาร เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหารมาเป็นแบบสมัครใจ ปฏิรูปตำรวจ รื้อโครงสร้าง ก.ตร. ให้ยึดโยงประชาชน และการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่เกิดขึ้นนับแต่การรัฐประหารปี 49
2. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ แก้ไขกฎหมายเพื่อลดโทษทางอาญาในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เช่น การหมิ่นประมาท การฟ้องปิดปาก ความผิดตาม มาตรา 112 และ 116 รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
3. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ 4 ฉบับ 4. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ 6 ฉบับ 5. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ 6. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 4 ฉบับ 7. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ 8. ร่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน 2 ฉบับ
ตอกย้ำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงเรื่องตำแหน่งประธานสภาว่า เรายังยืนยันต้องเป็นของพรรคก้าวไกล เพราะมี 3 วาระที่ต้องเดินหน้า ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมาย 45 ฉบับ ตามนโยบายพรรค ผลักดันวาระแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาจากส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง และผลักดันให้เกิดรัฐสภาโปร่งใส เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ขณะที่ท่าทีจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย ล่าสุดก็ยังไม่ยอมถอยเช่นกัน นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรองประธานสภา คนที่ 1 ในสภาชุดที่ผ่านมา กล่าวว่า แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคก้าวไกล อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ประธานสภา และนายกรัฐมนตรี สามารถใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมาย ยิ่งกว่าเจตจำนงของส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งสภา และอาจทำให้ผู้ได้รับข้อมูลเกิดความเข้าใจในทางที่เสียหายต่อผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภาด้วย นอกจากนั้น การอ้างว่า เป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภา จะได้รับตำแหน่งประธานสภาด้วย ก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเสียทีเดียว
“ที่ผ่านมา ทุกสมัย ประธานสภาจะมาจากการเลือกของเพื่อน ส.ส.ในสภา ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้เลือก และการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาฯกำหนด จะไปใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองพรรคใดไม่ได้ แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ก็ตาม”
นั่นเป็นปฏิกิริยาจากทั้งสองฝ่าย ที่สะท้อนให้เห็นว่า “ไม่ถอย” ด้วยกันทั้งคู่ เพราะถือว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทน จะเป็น “ผู้กำหนดเกม” ในลำดับถัดไป นั่นคือ คนที่ทำหน้าที่เป็น ประธานรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อแต่ละฝ่ายมีความจำเป็น “ขั้นสูง” ด้วยแล้ว มันถึงต้องเดินหน้า ซึ่งมีโอกาสสูงที่ไม่อาจตกลงกันได้จนต้องใช้วิธีการ “โหวต” ในสภา ซึ่งแน่นอนว่าหากออกมาแบบนี้ ทางพรรคเพื่อไทยย่อมมีแต้มต่อมากกว่าแน่นอน
เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่พรรคเพื่อไทยจะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไม่ว่าจะเป็น ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ เป็นต้น ซึ่งหมายรวมถึง “ช็อตต่อไป” ถึงแนวโน้มการ “ข้ามขั้ว” มาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพราะล่าสุดทาง “แฟนคลับเพื่อไทย” ได้ยกขบวนมาเรียกร้องถึงพรรคเพื่อไทยให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล พร้อมกับเปิดทางกับทุกพรรค
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดของพรรคก้าวไกล ที่กำลังเริ่มตีบตัน อย่างน้อย “ปมถือหุ้นสื่อ” กำลังกลายเป็นชนักปักคาหลังที่ยากสลัดหลุดออกไปได้ และเสี่ยงที่จะตกเก้าอี้ง่ายๆ อีกทั้งพรรคก้าวไกล มีแคนดิเดตเพียงคนเดียว มันก็จะกลายเป็นว่า “ส้มหล่น” ไปที่พรรคเพื่อไทยทันที ดังนั้น นี่คือ คำตอบที่ “ซ่อนอยู่” ว่าทำไมพรรคเพื่อไทย ถึงไม่ยอมถอยสำหรับเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ
ขณะที่พรรคก้าวไกล หากพลาดเก้าอี้ประธานสภา นั่นก็หมายความว่า ต้อง “แพ้ทั้งกระดาน” เพราะไม่อาจคุมเกมอะไรได้เลย ทั้งในเรื่องหลักประกันเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ นายพิธา ที่ต้องการนั่งเก้าอี้นายกฯไปก่อน แล้วไปวัดดวง เรื่องปมถือหุ้นสื่อภายหลังที่ คาดว่าน่าจะยื้อไปจนถึงต้นปีหน้า
แต่หากพรรคก้าวไกลยอมถอยให้ ตำแหน่งประธานสภากับเพื่อไทย แลกกับการการันตีเก้าอี้นายกฯของ นายพิธา แล้ว นั่นหมายความว่านอกจากยอมให้ “ขี่คอ” แล้ว โอกาสที่จะเกิดความแตกแยกภายในพรรคค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจากกลุ่ม “แก๊งสี่คน” ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช และ นายชัยธวัช ตุลาธน ที่เป็นเลขาธิการพรรค และมาจากกลุ่ม “ฟ้าเดียวกัน” เหมือนกับว่า นายพิธา ยอมงอ ละทิ้งอุดมการณ์เพื่อต้องการเข้าสู่อำนาจ
แต่ถึงอย่างไร นาทีนี้พิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ถือว่าพรรคก้าวไกล กำลังเป็นรอง ถูกพรรคเพื่อไทยขี่คอ ซึ่งจะเป็นบทเรียนแรกในเกมการเมืองจริง ไม่ใช่ในตำราหรือ อุดมคติแบบนักกิจกรรม!!