xs
xsm
sm
md
lg

พบอีก 99 โครงการ ใน 24 จังหวัด ยอดเงินกู้ 422 ล้าน ยื่นขอยกเลิก-ปรับใช้เงินโครงการเศรษฐกิจฐานรากสู้โควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แจงผลคืบหน้าใช้เงินกู้สู้โควิด 2.9 พันล้าน “เศรษฐกิจฐานราก ปี 65” กว่า 2,423 โครงการ ลง 800 ท้องถิ่นทั่วประเทศ พบ 99 โครงการ ใน 24 จังหวัด กรอบวงเงิน 422.5 ล้าน ขอยกเลิก/เปลี่ยนแปลง เฉพาะ 35 โครงการ 84 ล้าน ใน 11 จังหวัด ขอ “ยกเลิก” อ้างเหมือนเดิม ไร้ผู้รับจ้าง/ลงนามผูกพันสัญญาไม่ทันตามมติ ครม. ส่วนอีก 64 โครงการ 337.8 ล้าน ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียด

วันนี้ (23 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 จำนวน 2,423 โครงการ วงเงิน 2.9 พันล้าน ดำเนินการโดยท้องถิ่น ระดับเทศบาลตำบลและ อบต. กว่า 800 แห่ง ในกำกับกระทรวงมหาดไทย

ที่ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลง และยกเลิกโครงการ

ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานจังหวัดตรวจสอบตามที่ ครม. อนุมัติให้จังหวัดเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และ “ยกเลิก” โครงการ

ที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ รวม 99 โครงการ ใน 24 จังหวัด กรอบวงเงิน 422.5 ล้านบาท ตามที่ รมว.มหาดไทย ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว

พบว่า มีโครงการที่ “ยกเลิก” แล้ว 35 โครงการ วงเงิน 84.5 ล้านบาท ในจังหวัดลำปาง ตราด พิษณุโลก สมุทรสงคราม ตาก นครนายก สิงห์บุรี มหาสารคาม ลำพูน ระนอง และพระนครศรีอยุธยา

“ซึ่งจากการประสานกับจังหวัดที่รับผิดชอบโครงการ พบว่า มีสาเหตุมาจากไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างและลงนามผูกพันสัญญา จัดซื้อจัดจ้างได้ทันภายในเดือน พ.ย. 2565”

รวมถึงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทัน ตามกรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมติ ตามมติ ครม.

ส่วนกรณีการขอขยายระยะเวลาหลังจากสิ้นสุดการดำเนินโครงการ และที่ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ พบว่า มีจำนวน 64 โครงการ วงเงินรวม 337.8 ล้านบาท

“เช่น โครงการขุดลอก ห้วยระกำ ของ จ.ชุมพร วงเงิน 3 ล้านบาท มีการปรับลดเนื้องานเดิมบางส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ไปเพิ่มเติมพื้นที่ดำเนินการใหม่ แต่พื้นที่ดำเนินการบางช่วงเป็นคลองระบายนํ้า คสล. ทำให้ ไม่สามารถขุดลอกได้ และมีอาคารที่พักอาศัยกีดขวาง

โดยกรณีข้างต้น หลายโครงการเกิดปัญหาเนื่องจากได้ลงนามผูกพันสัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ เป็นต้น

สำหรับ 24 จังหวัด ประกอบด้วย สิงห์บุรี มหาสารคาม ลำพูน ระนอง พระนครศรีอยุธยา กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา ชุมพร ยะลา อ่างทอง ตาก นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี บึงกาฬ พิจิตร สมุทรสงคราม สระแก้ว พิษณุโลก นครนายก ภูเก็ต ตรัง อุดรธานี พังงา และน่าน

เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2566 พบว่า มี 44 โครงการ วงเงิน 154 ล้าน ใน 18 จังหวัด ที่ถูกยกเลิก อ้างเช่นกันว่า ไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้าง/ลงนามผูกพันสัญญาได้ทัน

สำหรับ “เงินกู้” นี้ เป็นไปตามกรอบแผนงาน หรือโครงการ กลุ่มที่ 3 ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงินกู้ 2,989,248,306 บาท

ตามโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 ที่จัดสรรให้เทศบาลตำบล (ทต.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประมาณ 800 แห่ง ใน 76 จังหวัด


กำลังโหลดความคิดเห็น