การก้าวสู่ยุคดิจิทัล 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ และใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้สมาร์ทโฟน เป็น หรือเข้าโลกออนไลน์ที่ไร้ขีดจำกัดเป็นแต่เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างเต็มรูปแบบหน่วยงานภาครัฐก็ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะเข้ามาช่วยให้การทำงานให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ลดขั้นตอน ลดความซับซ้อน ลดความยุ่งยาก ลดการเดินทาง ลดการใช้งานทรัพยากรในสำนักงาน และที่สำคัญยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เปรียบเสมือน AI ที่เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงทุจริตคอรรัปชันอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
ดังเช่น GovTech หรือ Government Technology ซึ่งเป็นหนึ่งในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการของภาครัฐ ครอบคลุมบริการสาธารณะต่าง ๆ สามารถทำงานผ่านออนไลน์ได้ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเข้าถึงบริการภาครัฐแบบโปร่งใส เปิดเผย และก้าวสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ได้อย่างเต็มตัวนั่นเอง
เราจะเห็นได้จากตัวอย่างการใช้งานระบบ GovTech ในหลายประเทศที่มีการพัฒนาและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันใจ ดังเช่น ประเทศเอสโตเนีย ที่โดดเด่นในการนำ GovTech มาใช้งาน โดยจัดการล้างระบบเอกสารภาครัฐเปลี่ยนมาใช้ ระบบออนไลน์ และทุกหน่วยงานของเอสโตเนียจะนำข้อมูลที่มีอยู่วิ่งบน ซุปเปอร์ไฮเวย์ หน่วยงานไหนจะใช้เข้ามูลก็สามารถเข้าไปใช้ อีกทั้งยังมีการสร้างพลเมืองดิจิทัล e-Residency ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ที่ได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นอย่างดีจากภาครัฐ
อีกประเทศตัวอย่างใกล้บ้านเราเช่นที่สิงคโปร์ มีการจัดตั้งหน่วยงาน GovTech ขึ้น เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแก่ประชาชนสิงคโปร์ทุกคน ตามแนวทางการพัฒนาประเทศอัจฉริยะหรือ Smart Nation มีโครงการจำนวนมากที่เกิดขึ้น เช่น บัญชี SingPass และ CorpPass บริการล็อกอินกลางของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จัดไว้ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ โดยมีบริการออนไลน์ภาครัฐทั้งหมด 140 บริการ รวมถึงแพลตฟอร์ม MyInfo ที่รวมข้อมูลและเอกสารสำคัญของประชาชนไว้ เพื่อทำธุรกิจกับหน่วยงานต่าง ๆ หรือแอปพลิเคชัน One Service ที่ประชาชนสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเรื่องถึงเทศบาลทางออนไลน์ได้ทันที
สำหรับหน่วยงานราชการไทยต้อง "ทรานส์ฟอร์ม" ตัวเองให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างระบบราชการให้เกิดการรวมศูนย์ ยกระดับราชการ เปลี่ยนระบบราชการ ให้เป็นแบบ One Click Government เชื่อมโยงข้อมูลแบบ One Data และ Open Government เพื่อทำให้เกิดการโปร่งใส ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการ ซึ่งเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ ดังจะเห็นจากการผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2022 หรือ UN E-Government Survey 2022 ที่จัดทำโดย สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) โดยจัดการประเมินทุก 2 ปี สำรวจจาก 193 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) อันดับที่ 55 คะแนน 0.7660 ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน (e-Participation Index: EPI) อันดับที่ 18 ได้คะแนน 0.7841 ซึ่งเป็นอันดับต้น ๆ ในระดับโลก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยาก หากภาครัฐของไทยจะต่อยอดระบบ GovTech ให้เป็นศูนย์กลางอัจฉริยะในการบริหารงานของภาครัฐ
GovTech เป็นระบบที่มีประโยชน์อย่างมหาศาลในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice การใช้ระบบ e-payment หรือ ระบบ e-self service การให้บริการประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการเฉพาะหน่วยงานแต่ละหน่วย ถือเป็นช่องทางที่ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการจากภาครัฐได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับการใช้ GovTech กับการบริการประชาชนโดยภาครัฐจัดทำระบบขึ้นมานั้น ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้งานได้อย่างเต็มที่ด้วยปริมาณงานที่มีคุณภาพ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เมื่อรัฐสามารถรวมศูนย์กลางข้อมูล การบริหารงานเข้าที่ระบบส่วนกลางได้ จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีความโปร่งใส สุจริต และสามารถตรวจสอบได้ เหมือนมีกล้องวงจรปิดติดไว้ที่ระบบตลอดเวลาที่มีเจ้าหน้าที่ใช้งานนั่นเอง และเชื่อมั่นได้ว่า GovTech จะช่วยให้การบริหารจัดการงานภาครัฐในหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน ได้ลดช่องว่าง ตัดช่องเล็กช่องน้อยรอบด้านบนเส้นทางการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐได้อีกด้วย
หน่วยงานภาครัฐในไทยที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ GovTech มาช่วยสร้างความโปร่งใสและลดการทุจริตในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็มีให้เห็นมากขึ้นในหลายหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม มีการพัฒนาระบบ e-Service เพื่อบริการประชาชนใน 3 ช่องทาง ทั้ง Line@ssothai แอปพลิเคชัน SSO Connect และ เว็บไซต์ www.sso.go.th โดยให้บริการตรวจสอบสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับผู้ประกันตนได้ทุกมาตรา ไม่ว่าจะเป็น ยอดสะสมเงินชราภาพ รายการส่งเงินสมทบ การใช้สิทธิทันตกรรมหรือสิทธิสถานพยาบาล เป็นต้น อีกทั้งยังเปิดระบบ e-self service ให้ประชาชนสามารถยื่นเอกสารออนไลน์เพื่อขอรับเงินทดแทนได้อีกด้วย หรือที่คุ้นเคยกัน อย่างระบบ e-Filing ของกรมสรรพากรได้ช่วยให้ประชาชนการยื่นแบบภาษีประจำปีทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก และยังใช้ระบบการคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์ผ่านบัญชีธนาคารที่ผู้เสียภาษีผูกไว้กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการคืนภาษีที่รวดเร็วทันใจและปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งหมดนี้ ถือเป็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี GovTech เพื่อการบริหารจัดการงานของหน่วยงานภาครัฐที่เห็นภาพได้ชัดเจนว่าเป็นการลดขั้นตอนการทำธุรกรรมกับภาครัฐ ลดโอกาสการเกิดคอร์รัปชัน มีความโปร่งใสและประชาชนสามารถตรวจสอบได้
อีกหนึ่งต้นแบบของ GovTech ที่เรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับหน่วยงานภาครัฐไทยที่เพิ่งได้รับรางวัลไปหมาด ๆ นั่นคือ Line Official Account หมอพร้อม ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่เป็นตัวอย่างการทำงานอย่างเป็นระบบและมีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริการประชาชนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การบริหารงานด้านสาธารณสุขเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง
ในต่างประเทศก็มีกรณีตัวอย่างชัดเจนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมต่อการบริหารจัดการงานภาครัฐเพื่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ เช่นที่ ประเทศอังกฤษ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง Government Cloud Servive (G-Cloud) มาใช้และมีสัญญาการจัดซื้อที่เป็นมาตรฐาน เพิ่มความโปร่งใสและลดโอการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ ขณะที่ประเทศชิลิ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการต่อต้านการคอร์รัปชันด้านสาธารณสุขของภาครัฐ เรียกว่า ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (CENABAST) เป็นการนำระบบการจัดซื้อออนไลน์มาใช้ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการจัดหายา อาหาร เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งระบบนี้นอกจากจะช่วยสร้างความโปร่งใสในภาครัฐแล้วยังช่วยลดต้นทุนการจัดซื้อในภาครัฐได้อีกด้วย
ประโยชน์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการงานของภาครัฐ ยังสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้มีการเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “เนื่องจากภาครัฐได้มีการแก้ไขปัญหาการติดสินบน โดยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับสินบนอย่างจริงจัง รวมทั้งการพัฒนาระบบการอนุมัติ อนุญาตให้มีความโปร่งใส การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ได้ส่งเสริมให้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการอนุมัติอนุญาตตามนโยบาย “Digital Government” ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลลงในระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ภาคประชาชนมีความตื่นตัวในการจับตามองการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐได้ตลอดเวลา”
เห็นได้ชัดว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการงานในภาครัฐ หรือ การใช้ระบบ GovTech มีความจำเป็นและสำคัญมากสำหรับภาครัฐไทย เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว ภาครัฐยังใช้งบประมาณน้อยลงในการบริหารจัดการ แถมยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการดีขึ้นและสามารถตรวจสอบได้ ผลพวงจากความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐด้วย GovTech ก็จะช่วยให้ไทยยกระดับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐให้ลดลงไปได้ และถ้าเราทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีมาร่วมเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เสมือนการใช้แอปพลิเคชันไลน์ร้องเรียน ก็คงจะช่วยให้การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐเบาบางลงไป ซึ่งสิ่งนี้เองคือความท้าทายและโอกาสของ GovTech ที่ภาครัฐจะต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบต่อไป และในอนาคตเราอาจจะได้เห็น GovTech ได้มาใช้บริหารจัดการงานภาครัฐอย่างแพร่หลายมากขึ้น ระบบราชการที่เคยโบราณคร่ำครึจะเปิดโลกต้อนรับเทคโนโลยีและได้อัปเดตตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิมแน่นอน
(Advertorial)