“เซีย จำปาทอง” ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อันดับที่ 4 ฝากแรงงาน โชว์! ร่างกฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ จ่อเปิดสภาผลักดันทันที เชื่อ ยกระดับคนงานภาครัฐ มีสถานะเป็น “แรงงาน” ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย อีกฉบับ ชูทำงาน 5 วัน - 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ เกินต้องได้ OT แถมมาตรการเสริมเพียบ!
วันนี้ (17 พ.ค.) มีรายงานว่า นายเซีย จำปาทอง ว่าที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 4 พรรคก้าวไกล ได้โพตส์ทวิตเตอร์ ถึงร่างกฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ รบ.ก้าวไกล ที่พร้อมยื่น โดยรอแค่เปิดสภาเท่านั้น
พบว่า ฉบับแรกเป็นร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ.. มีใจความว่า ร่างกฎหมายยกระดับให้คนงานภาครัฐ มีสถานะเป็น ‘แรงงาน’ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
(ที่ผ่านมา กฎหมายไม่ถือว่าคนงานภาครัฐเป็นแรงงาน) ตามนโยบายของก้าวไกลรอแค่เปิดสภายื่นทันที
“มี 2 มาตรการสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย 1. ต้องให้คนงานมีสหภาพแรงงานเพื่อเพิ่มอำนาจ 2. บังคับใช้ตรวจสอบโดยภาครัฐ ช่วยได้ครับ”
ฉบับที่ 2 ระบุถึงการทำงาน 5 วัน หรือ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ เกินต้องได้ OT, ยกเลิกซับบรรจุพนักงานรายวันเป็นรายเดือน, เพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขั้นต่ำ 10 วัน สะสมได้,
ค่าจ้างต้องเพิ่มทุกปี, ไม่เลือกปฏิบัติ เช่น ห้ามจำกัดอายุ ห้ามบังคับตรวจ HIV ก่อนรับทำงาน
สำหรับ หลักการของ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มบทนิยามคำว่า “การจ้างงานรายเดือน” (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4)
(2) แก้ไขเพิ่มเติมหลักการปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้าง ให้เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติอันเขาพึงมี ตามกฎหมาย (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14)
(3) แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง โดยปรับลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23)
(4) เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือน นายจ้างต้องจ้าง เป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ (เพิ่มเติม มาตรา 23/1)
(5) แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันหยุดประจำสัปดาห์ โดยเพิ่มวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสองวันต่อสัปดาห์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๘)
(6) แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง เมื่อทำงานติดต่อกับครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ให้มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบวันทำงาน (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 30)
(7) แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างกรณีงานที่มีสักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกันหรือปริมาณเท่ากัน ให้ไต้รับอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43)
(8) แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า โดยให้ถืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรืออัตราเงินเฟ้อ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 87)
มีเหตุผลว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ให้ครอบคลุมถึงการจ้างงานรายเดือน ลดความเหลื่อมลํ้าภายในสถานประกอบการ กำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของลูกจ้างให้มีความชัดเจน การกำหนดค่าจ้างขั้นตํ่า
ต้องคำนึงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ การเลือกปฏิบัติ โดยการแบ่งแยก การกีดกัน ความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ
สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อ ทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง
ต้องได้รับความคุ้มครอง เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้.