xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ยังอีกหลายยก ถกจุดยืน “ม.112” จบไม่ง่าย “ว่าที่พรรคร่วมฯ” ต่างตั้งการ์ดสูง แถมอาจต้องสละเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ให้ “เพื่อไทย” ที่เก๋าเกมกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ยังอีกหลายยก ถกจุดยืน “ม.112” จบไม่ง่าย “ว่าที่พรรคร่วมฯ” ต่างตั้งการ์ดสูง แถมอาจต้องสละเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ให้ “เพื่อไทย” ที่เก๋าเกมกว่า

หลัง “พี่ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยจะจับมือกับอีก 5 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม และพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม ซึ่งสามารถรวบรวมได้ 310 เสียง

ขณะที่ทุกพรรคการเมืองที่ถูกเอ่ยชื่อ ต่างขานรับ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศสนับสนุน “พิธา” ในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล และไม่คิดจัดตั้งรัฐบาลได้แข่งขัน ทำให้พรรคก้าวไกล รุกหน้ามากขึ้น โดยต่อสายหาแกนนำพรรคพันธมิตร เพื่อนัดหารือกันถึง “เอ็มโอยู” ในการร่วมรัฐบาล ในวันที่ 17 พ.ค.66

ในวงถกเอ็มโอยูหนแรก หลายพรรคส่งผู้บริหารพรรคไปตามธรรมเนียม สำหรับพรรคก้าวไกล ส่ง “พิธา” ในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อม “เลขาฯต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” และ “จารย์ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค เป็นแกนหลัก

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่ง “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, “เฮียเสริฐ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และ “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พรรค

ส่วนพรรคอื่นๆ อย่างพรรคประชาชาติ “วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ส่งเลขาธิการพรรคคือ “เสี่ยวี” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคไป

หากดูตัวละครบนโต๊ะถกเอ็มโอยู แม้จะเป็นระดับผู้บริหารพรรคอย่างหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค แต่คนที่เป็น “ดีลเมกเกอร์” ตัวจริง มีไม่กี่คน โดยพรรคก้าวไกล คือ “ชัยธวัช” แม่บ้านพรรค เพื่อนซี้ของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ขณะที่พรรคเพื่อไทย หากเป็นสายตรงของคนแดนไกล จะมีเพียง “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เท่านั้น

อย่างไรก็ดี การนัดหารือกันครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น โดยเป็นการให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่พรรคก้าวไกลอยากจะจับมือด้วยมารับฟังข้อเสนอในการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนจะร่าง “เอ็มโอยู” กันออกมา

สาระสำคัญของเอ็มโอยู ที่น่าสนใจน่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลประกาศในการหาเสียงเอาไว้ ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะจบง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ว่าจะเดินไปกับพรรคก้าวไกลหรือไม่

เนื่องจากหลายพรรคการเมืองเอง กังวลว่าการแก้ไขมาตราดังกล่าวของพรรคก้าวไกลเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในสังคม และทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ และอายุสั้น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - ชัยธวัช ตุลาธน
หลายพรรคต้องการให้พรรคก้าวไกลลดเพดานดังกล่าวลง ในขณะที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถทำให้ได้ เพราะหาเสียงเอาไว้ หากยอมถอยสุดท้ายจะกลายเป็นการตระบัดสัตย์ เสียรังวัด เสียคะแนนของตัวเอง จุดนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า จะทำให้ความหวังในการเป็นนายกรัฐมนตรีของ “พิธา” เป็นไปอย่างยากลำบาก

ดูแล้วเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คงไม่สามารถจบได้ในครั้งเดียว เพราะหลายพรรคเองย่อมต้อง “ยกการ์ดสูง” ไม่รีบเออออห่อหมกกับพรรคก้าวไกล

อีกเรื่องที่น่าจับตาคือ เรื่องคดีความของ “พิธา” กรณีถือหุ้นไอทีวี ซึ่งเป็นหุ้นสื่อ ตามกฎหมายสุ่มเสี่ยงจะทำให้กระเด็นตกเก้าอี้ได้ ซึ่งมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์ที่ล่อแหลมแบบนี้ เพราะสามารถออกได้ทุกหน้า และทุกเวลาด้วย จะจัดการและวางแผนรับมือกันอย่างไร

ที่สำคัญพรรคอันดับ 1 กันวางแคนดิเดตนายกฯไว้คนเดียวเสียด้วย

แต่อย่างไรก็ดี อีกสิ่งที่น่าจะต้องหารือกันในวงนี้เลย และถือเป็นไฮไลต์ เพราะจะมาถึงเป็นขั้นตอนแรกคือ การเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 คน ที่ภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลได้ 95% ตามกฎหมาย จะต้องเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกตัวประธาน

ที่ผ่านมา พรรคอันดับ 1 มักจะได้ครองเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ แต่ครั้งนี้อาจจะไม่ง่าย เพราะพรรคเพื่อไทยเอง มีปริมาณ ส.ส.น้อยกว่าพรรคก้าวไกลไม่มาก ประกอบกับอำนาจต่อรองที่สูง ในฐานะพรรคอันดับ 2 ที่พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องงอนง้อ ดูแล้วอาจจะต้องถกกันนาน

เหมือนกับตอนที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้จะได้เสียง ส.ส.มากที่สุดในขั้วดังกล่าว แต่ด้วยการที่เสียงปริ่มน้ำ จำเป็นต้องพึ่งพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชิงต่อรอง เอาเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประเคนให้ “นายหัวเมืองตรัง” ชวน หลีกภัย จนทำให้ “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ ที่อยู่พรรคพลังประชารัฐขณะนั้น ต้องยอมถอยไปนั่งเป็น “รองประธานสภาฯ คนที่ 1” แทน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว - สุชาติ ตันเจริญ
ครั้งนี้พรรคเพื่อไทย น่าจะขอเก้าอี้ตัวนี้ เพื่อไว้ใช้กำหนดเกมในสภา โดยมีลิสต์อยู่หลายชื่อเหมือนกันที่เป็นผู้มีประสบการณ์มากกว่า ส.ส.จากพรรคก้าวไกลที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 เท่านั้น โดยมีทั้งชื่อของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว-สุชาติ ตันเจริญ-ชูศักดิ์ ศิรินิล-ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร” ที่พรรษาทางการเมืองสูง

ขณะที่พรรคก้าวไกลเอง แม้จะไม่มีผู้อาวุโสเท่า แต่มี ส.ส.ที่พอแม่นข้อบังคับ ไปวัดไปวาได้คือ “ผู้แทนฯอ่างทอง” ณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก ที่ผ่านประสบการณ์การเป็น ส.ส.สมัยแรกมาแล้ว แต่ก็ดูไม่น่าจะคุมเกมอยู่

จริงอยู่ พรรคก้าวไกล คงอยากเก็บเก้าอี้ตัวนี้เอาไว้เอง เพราะประธานสภาฯจะทำให้ตัวเองสามารถนำกฎหมายต่างๆ ที่เป็นนโยบายของพรรคเข้าสภาฯ และผลักดันได้ง่ายกว่าอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ดูแล้ว พรรคเพื่อไทย คงไม่ยอมง่ายๆ แน่ ด้วยอำนาจต่อรองที่สูงกว่า ที่สุด พรรคก้าวไกล อาจจะรักษาไว้ไม่ได้.

**ไม่โหวต “พิธา”=หัวหงอก หัวแข็ง ไม่เป็นสุภาพบุรุษประชาธิปไตย อะไรกันนี่!!??

ความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลผู้ชนะอันดับหนึ่งในศึกเลือกตั้งฟอร์มรัฐบาล และ เสนอ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และ แคนดิเดตนายกฯให้เป็น “นายกฯคนที่ 30”เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่วิพากษ์วิจารณ์ ดราม่ากันสนั่นลั่นทุ่ง
ดราม่าจนกลายเป็นสองฝั่งสองฝ่าย

ฝ่ายของ "พ่อส้ม" ได้แรงรุกไล่ จากเจ้าตัว"พิธา" แนะนำตัวเองบนเวทีขอบคุณประชาชนที่เลือกก้าวไกล ว่า ตัวเองเป็น"ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่" จุดพลุชุดความคิด เมื่อชนะก็ต้องได้เป็นนายกฯ

มีความพยายามสร้างกระแสกดดัน พรรคการเมือง และ ส.ว.ต้องโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ มีวาทะกรรมที่ออกมาในโซเซียบ ทำนองเรียกร้องสปิริต “ให้โหวต-ต้องโหวต” หากอยากเป็น “สุภาพบุรุษประชาธิปไตย” และ “เคารพเสียงของประชาชน” ต้องเลือกพิธา

เจนนิเฟอร์ คิ้ม
ความพีคมาถึง "เจนนิเฟอร์ คิ้ม" นักร้องและพิธีกรดัง ที่โพสต์ภาพจอส้ม และเขียนข้อความฟาดเดือดถึง ส.ว. ระบุ บ้านเมืองต้อง "ก้าวไปข้างหน้า" ...การดูถูก...ก่นด่า....ขัดขวางทำให้ล่าช้าโดยกลุ่มคนหัวหงอกหัวแข็ง รังแต่จะเสียเวลาเสียความน่าเคารพ..เสียผู้ใหญ่....และผมหงอกก็มีไว้ให้คนไหว้..ไม่ได้เอาไว้ให้คนถอน!

ขณะที่อีกฝ่าย เห็นว่า เย็นไว้โยม ประชาธิปไตยก็ควรมี "ครรลองของสภา"

ตามกติกาประชาธิปไตย ณ ตอนนี้ ต้องถือว่า จัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ตามมาด้วยขั้นตอนโหวตนายกฯที่ก็ยังมีความเห็นหลากหลาย โดยเฉพาะ “ด่าน ส.ว.”

ที่เห็นและเป็นไปตลอดทั้งวันมีความเห็นจากฝั่ง ส.ว. และนักการเมืองขั้วตรงข้ามก้าวไกล

ชัดๆก็จาก ส.ว."จเด็จ อินสว่าง" บอกว่า ส.ว.คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี จึงค่อยพิจารณาจะโหวตให้หรือไม่

ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อ "พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวจะไม่โหวตให้แน่นอน เพราะ มีจุดด้อยในเรื่องปัญหาทัศนคติการเมือง ที่จะยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งรับไม่ได้ เพราะปฏิญาณตนจะจงรักภักดี ถ้าเลือก “พิธา” ไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.กล่าวถึงกรณี “พิธา” ก็งงเสียงเรียกร้องต่างๆที่มีต่อ ส.ว. ก่อนหน้านี้ก็เรียกร้องให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. แก้ไขมาตรา 272 ไม่ให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มาตอนนี้กลับเรียกร้องให้ ส.ว.ใช้อำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ห้ามงดออกเสียง ตกลงจะเอายังไงกันแน่?

จเด็จ อินสว่าง - ธนกร วังบุญคงชนะ
เฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา อีกคน กล่าวถึง เสียงเรียกร้องให้ ส.ว.ไม่ฝืนฉันทามติประชาชน ต้องโหวตให้พรรคชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีว่า พรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องไปหาเสียงให้ได้ 376 เสียงเองก่อน อย่ามาหวังพึ่งเสียง ส.ว. ไปเอา พรรคภูมิใจไทย มารวมก็ได้แล้ว เพื่อจะได้ปิดสวิตซ์ ส.ว.ไปเลย

ปัจจัยของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องเสียงที่ได้รับจากประชาชนหรือเสียงข้างมากอย่างเดียว ต้องดูว่าใครตั้ง ส.ว.ชุดนี้ และมีที่มาอย่างไร ส.ว.ก็แบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ ส.ว.กลุ่มอิสระ มีไม่ถึง 20 คน แต่เวลาลงมติ ก็ไม่รู้จะอิสระจริงหรือไม่

ขณะที้ ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ บอกว่า วันนี้การจัดตั้งรัฐบาลพึ่งเริ่มต้น อยากเห็นบรรยากาศคนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ควรมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ ไม่ควรจะไปพูดจาเหน็บแนมหรือไปกระแหนะกระแหนผู้ใหญ่ของบ้านเมือง โดยเฉพาะลูกพรรคที่เป็น ส.ส. ไม่ควรไปก้าวล่วงบางหน่วยงาน ไปใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควร

ส.ว.เองก็มีอิสระในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งก็ไม่ควรจะไปดูแคลน ส.ว. เพราะเขาก็มีหัวจิตหัวใจ ถ้าไปดูแคลนมากไป และอยู่ๆ จะให้เขามาช่วยโหวต ก็กระไรอยู่

ถามว่า พรรค รทสช.จะโหวตเลือกพิธา หรือไม่ ธนกร กล่าวว่า “ทำไมผมต้องยกมือให้ ในเมื่อผมไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายเขา ซึ่งไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะยกมือให้"

นี่ก็เป็นดราม่าที่สองฝ่ายโต้แย้งกัน ตรรกะของใครฟังขึ้นก็ไตร่ตรองคิดตามกันไป ที่แน่ๆ ดูเหมือนฝ่าย"พ่อส้ม" ในโซเชียลจะแรง เสียงดังกว่า พัฒนาจนเป็น"อารมณ์" ที่ผสม "เสียงเชียร์"กระหึ่ม

ไม่โหวต “พิธา” = หัวหงอก หัวแข็ง ไม่เป็นสุภาพบุรุษประชาธิปไตย อะไรกันนี่!!??


กำลังโหลดความคิดเห็น