xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายเชาว์” กางกฎหมายปมหุ้นไอทีวี “พิธา” ไร้คำว่าในฐานะผู้จัดการมรดกต่อท้าย ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของ “พิธา” แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายเชาว์” กางกฎหมายปมหุ้นไอทีวี “พิธา” ไร้คำว่าในฐานะผู้จัดการมรดกต่อท้าย ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของ “ พิธา” แล้ว แต่ยังมีช่องทางรอดให้บรรดาทายาทเป็นพยาน หากยังเป็นหุ้นกองมรดกก็รอด แนะ เจ้าตัวควรหอบหลักฐานแถลงด้วยตนเอง แทนโยนให้ทีมกฎหมายช่วยชี้แจง

วันนี้ (12 พ.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง หุ้นไอทีวีเป็นของใคร….? มีเนื้อหาระบุว่า ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การถือครองหุ้นไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลำดับ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลนั้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.และการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ เนื่องจากเดิมหุ้นดังกล่าวเป็นของ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดาของนายพิธา ต่อมาภายหลังที่ นายพงษ์ศักดิ์ เสียชีวิต เมื่อปี 2549 นายพิธา ก็เข้ามารับหน้าที่ผู้จัดการมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ ตามคำสั่งศาล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นในชื่อเดิมของนายพงษ์ศักดิ์ มาเป็นชื่อนายพิธา ไม่มีคำว่าในฐานะผู้จัดการมรดกเหมือนกรณีโดยทั่วไป จึงเกิดคำถามว่าหุ้นดังกล่าวยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ หรือโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพิธา ในฐานะทายาทแล้ว

อดีตรองโฆษกพรรครปะชาธิปัตย์ ระบุว่า เรื่องนี้มองได้สองมุม คือ

1 จากพฤติการณ์ จะเห็นได้ว่า นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2549 เป็นระยะเวลา 17 ปีกว่าแล้ว การจัดการมรดกโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดข้องเรื่องการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันระหว่างทายาท ซึ่งมีอยู่ด้วยกันเพียงไม่กี่คน ประกอบกับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นจากนายพงษ์ศักดิ์เจ้ามรดกมาเป็นชื่อนายพิธาเพียวๆ โดยไม่มีคำต่อท้ายว่ากระทำในฐานะผู้จัดการมรดกเหมือนกรณีทั่วไป จึงมองได้ว่าหุ้นได้โอนจากกองมรดกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพิธาเสร็จเด็ดขาดแล้ว

2 ตามข้อกฎหมาย หุ้น เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งของผู้ถือหุ้นเมื่อผู้ถือหุ้นตาย หุ้นนั้นจึงตกทอดแก่ทายาททันทีตามกฎหมาย โดยผ่านกองมรดกของผู้ตาย โดยผู้จัดการมรดกสามารถเข้ามาถือหุ้นแทนผู้ตายเพื่อจัดการแบ่งปันให้ทายาท ซึ่งแม้จะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามกฎหมายไว้หลายประการด้วยกัน แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องตายตัวว่าต้องทำทุกกรณี ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกเป็นสำคัญ ดังนั้น ปัญหาว่าหุ้นดังกล่าวโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพิธาแล้วหรือไม่ หรือยังเป็นหุ้นในกองมรดกที่นายพิธาถือแทนอยู่ ก็แค่อาศัยคำยืนยันจากบรรดาทายาทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกองมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ หากยืนยันว่าหุ้นดังกล่าวยังไม่ได้มีการแบ่งปันกันระหว่างทายาท ทางรอดของนายพิธาก็เปิดกว้างเพราะทำได้ง่ายมาก

“ถ้า นายพิธา ยืนยันได้ด้วยพยานหลักฐาน โดยอ้างคำยืนยันจากบรรดาทายาท ว่า ถือครองหุ้นดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก ทุกอย่างก็จบ ไม่ต้องไปไล่เรียงอีกว่า บริษัทนี้ยังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ แต่ถ้ายืนยันไม่ได้ เรื่องอาจลากยาวไปอีก เพราะต้องพิสูจน์ว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว ทางที่ดีถ้านายพิธามีหลักฐานในมือ ก็แถลงต่อสาธารณะเคลียร์ไปซะ เรื่องก็จบ ไม่ต้องรอให้ทีมกฎหมายเป็นฝ่ายชี้แจง อย่างไรก็ตาม หากนำบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกา ที่คืนสิทธิการสมัคร ส.ส.นครนายก เขต 2 ให้กับนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ด้วยเหตุที่การถือหุ้นเอไอเอส ในจำนวนน้อย ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการมาใช้ นายพิธา ก็มีโอกาสรอดอยู่มากเช่นกัน” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น