xs
xsm
sm
md
lg

“พี่ศรี” ลุยร้อง “พิธา” ต่อหุ้นสื่อ ชี้ไม่ซ้ำรอย “ธนาธร” แต่ผิดคุณสมบัติ ย้อนควรเคลียร์ก่อนลงการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ” เตรียมยื่นหลักฐานสอบ “พิธา” ถือหุ้นสื่อ แม้ไม่ซ้ำรอย “ธนาธร” แต่ผิดคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นผู้สมัคร ส.ส เชื่อ กกต.ชงให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัย ยันไม่ได้สกัดพิธาช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง แต่ควรเคลียร์ตัวเองก่อนจะมาเป็นนักการเมือง

วันนี้ (11 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์หลังให้ถ้อยคำต่อกกต.กรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ปราศรัยแจกเงินดิจิทัล ว่า วันนี้ กกต. เชิญมาให้ถ้อยคำเพื่อยืนยันเอกสารหลักฐาน หลังพบข้อมูลอาจฝ่าฝืน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(1) (5) ที่ระบุถึงการแจกทรัพย์สิน หรือสิ่งของอื่นใดที่มีมูลค่าเป็นเงิน และเป็นนโยบายแฝงจูงใจให้คนมาเลือกตนเอง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสำคัญและอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติในอนาคต เบื้องต้น กกต.แจ้งว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นเร่งด่วนสำคัญ จึงเรียกให้ตนมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม คาดว่า จะเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ทั้งหมด โดยส่วนตัวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับเอกสารที่นำมายื่น กกต.เพิ่มเติมมีทั้งเอกสารมติครม.ที่อนุมัติงบประมาณปี 2567 ประมาณ 3.33 ล้านล้านบาท และเงินจำนวนนี้คาดว่าจะมีงบประมาณพอให้รัฐบาลใหม่ใช้เพียง 2 แสนล้านบาท จึงเป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายของพรรคเพื่อไทย 70 นโยบาย ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะนโยบายจ่ายเงินดิจิทัลต้องใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท นั้นไม่สามารถทำได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงรายละเอียดกับ กกต.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่มีความชัดเจนในการใช้งบประมาณดังกล่าว และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้กรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาบอกว่าจะมีเม็ดเงินจากผลคูณทางเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงแล้วนโยบายแจกเงินของพรรคเพื่อไทยต้องใช้งบประมาณทันที 5.6 แสนล้านบาท มองว่าจะนำงบประมาณจากอนาคตมาใช้นั้นเป็นไปไม่ได้ นโยบายจ่ายเงินดิจิทัลจึงเป็นนโยบายประชานิยมสุดขั้วเกินไป ซึ่งจะเป็นปัญหากระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ จึงอยากให้กกต.ออกคำวินิจฉัยโดยเร็ว แม้ว่ากรอบระยะเวลาอาจจะไม่ทันก่อนการเลือกตั้ง

นายศรีสุวรรณ ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ว่า ก่อนหน้านี้ ตนก็ได้ข้อมูลหลักฐานชิ้นเดียวกันกับที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งเป็นหลักฐานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเรื่องนี้มีกรณีศึกษาจาก นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.นครนายก อยู่แล้ว กกต. น่าจะมีคำสั่งห้ามรับสมัคร แล้วให้นายพิธา ไปแก้ตัวในศาลฎีกา แต่ กกต. กลับเงียบเฉยไม่ยอมดำเนินการ ซึ่งหากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ต้องยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

ส่วนที่ นายพิธา ระบุว่า ได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.แล้ว เห็นว่า ยังไม่ชัดเจน แม้ว่าเลขาธิการ ป.ป.ช.จะออกมาแถลง เนื่องจากพบว่าพยานเอกสารหลักฐานเดิมของนายพิธา ยื่นแสดงแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช.นั้น ไม่ได้ระบุข้อมูลการถือหุ้นไอทีวี ขณะที่ ป.ปช.ก็ไม่เคยเปิดเผยหลักฐานต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนเลย มีแต่คำพูดลอยๆของเลขาฯ ป.ป.ช ส่วนตัวมองว่าเชื่อถือไม่ได้

“การถือหุ้นของนายพิธา จะไม่ซ้ำรอยกับนายธนาธร เนื่องจากการถือหุ้นของนายธนาธร เป็นสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ ส่วนไอทีวี เป็นสื่อโทรทัศน์ มีความแตกต่างกัน ที่ว่า บ.ไอทีวี ถูกคำสั่งปิดไปแล้วเมื่อปี 2550 ในเมื่อไม่ยื่นการปิดบริษัท และยังมีการประชุมของผู้ถือหุ้นอยู่ รวมทั้งบริษัทไปลงทุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน จะอ้างว่า ปิดไปแล้วก็คงไม่ใช่ มองว่า เรื่องนี้จะต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะว่าเป็นเผือกร้อน กกต.คงไม่วินิจฉัยเอง”

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เอกสารที่จะมายื่นต่อ กกต.มีความแตกต่างจากนายเรืองไกร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 1559 โดยตนเองก็เคยเป็นผู้จัดการมรดกของบิดา เวลาไปทำนิติกรรมใดๆ เอกสารใดๆที่ปรากฏในชื่อของบิดาซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ตนในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก ถ้าไม่ระบุว่าจะมอบมรดกให้กับใคร หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่จะแปลงชื่อนั้นเป็นของตนเองซึ่งเป็นลูกทันที นั่นหมายความว่า ตนเองก็สามารถนำทรัพย์สินไปทำนิติกรรมใดๆ ก็ได้ ดังนั้น เอกสารที่ปรากฏในชื่อของนายพิธา ไม่ได้มีวงเล็บว่า ในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งหมายความว่านายพิธาก็สามารถดำเนินการใดๆกับหุ้นนี้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารหรือคำสั่งของศาลในเรื่องของการตั้งผู้จัดการมรดก ดังนั้น คำพูดที่นายพิธา อธิบายมานั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงก็ได้

ส่วนที่มีการมองว่าการร้องเรื่องถือหุ้นนายพิธา เป็นเกมขัดขาพรรคก้าวไกล นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า มันจะเป็นเกมสกัดขาได้อย่างไร เพราะทุกการเลือกตั้งก็จะมีเรื่องร้องเรียน ว่า ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการร้องเรียนในช่วงการเลือกตั้ง จะมองว่าเป็นการขัดขาก็แล้วแต่ แต่ส่วนตัวมองว่า ผู้สมัคร ส.สหรือคนที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองจะต้องเคลียร์ตนเองตั้งแต่เริ่มต้นคิดจะเป็นนักการเมืองแล้วไม่ควรปล่อยให้คนอื่นมาจับผิดแบบนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น