xs
xsm
sm
md
lg

ปมยิงเลเซอร์หาเสียงสะพานพระราม 8 “ดร.ณัฎฐ์” ชี้ข้อกฎหมาย การหาเสียงกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 7(7) เป็นช่องว่างระเบียบ กกต.สามารถกระทำได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมยิงเลเซอร์หาเสียงสะพานพระราม 8 “ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชนคนดัง ชี้ข้อกฎหมาย การหาเสียงกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 7(7) เป็นช่องว่างระเบียบ กกต.สามารถกระทำได้ แต่เป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 จากกรณีปมร้อนการยิงเลเซอร์หาเสียงบนเสาสะพานพระราม 8 โดยมีข้อความเชิญชวนให้เลือกหมายเลขของพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 พ.ค.2566 กลายเป็นกระแสวิพากวิจารณ์เป็นวงกว้างว่าเป็นการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ จนต่อมา พรรค รสทช.ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำของนางสาวทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เกี่ยวกับพรรค รสทช.

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง ในประเด็นร้อนแรงดังกล่าว โดยท่านได้อธิบายและให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชนในประเด็นที่น่าสนใจว่า ตนเพิ่งจะทราบจากผู้สื่อข่าวที่ได้มาสอบถามและได้ดูภาพถ่ายที่ส่งมาให้ดู โดยตนจะให้ความรู้กฎหมายเลือกตั้งเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นประโยชน์สาธารณะ ป้ายหาเสียงกับการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างกัน หากจะตีความว่ากึ่งอิเล็กทรอนิสก์นับว่าเป็นป้ายหาเสียงอย่างหนึ่ง คงจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทได้เขียนไว้ในข้อ 7(7) แห่งระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 แต่การยิงเลเซอร์ บนเสาสะพานพระราม 8 ที่อยู่ในการดูแลของสำนักโยธาฯ กทม.นั้น ต้องไปพิจารณาถึงว่า เป็นการนำทรัพยากรของรัฐไปใช้โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ต้องมาเสียเวลาถกเถียงว่า ผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ เพราะการยิงเลเซอร์ ตามงานอีเวนต์ แม้จะมีระยะเวลาจำกัด ถือเป็นเพียงกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการใช้ช่องว่างระเบียบ เอารัดเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น กกต.จะเป็นจ่าเฉยไม่ได้ ต้องเสนอแนะ ป้องปรามให้แก้ไข เพราะเห็นได้ชัดว่า เอาเปรียบทุกพรรคการเมือง แม้ระเบียบไม่ได้ห้ามไว้ แต่ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะโยนภาระให้ กทม.เจ้าของพื้นที่ตรวจสอบว่า อนุญาตหรือไม่ ต่อไป อาคารรัฐสภา อาคารทำเนียบ อาคารสูงหรือตึกสูงต่างๆ ก็จะยิงเลเซอร์หาเสียงได้ โดยเฉพาะโค้งสุดท้าย งัดกลยุทธ์วิชามารมาทุกรูปแบบ

หลักเกณฑ์ป้ายหาเสียง ได้กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดย พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 มาตรา 83 ได้บัญญัติให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ปิดประกาศหรือแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่กกต.กำหนดและต้องมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่ กกต.กำหนด หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามมาตรา 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เจตนารมณ์ของกฎหมายเลือกตั้งในเรื่องป้ายหาเสียง เพื่อให้ทุกพรรคการเมือง ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงฯจึงได้กำหนดขนาดป้าย จำนวนป้ายไม่เกินจากที่ กกต.กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา และเป็นเหตุแห่งการร้องเรียนว่ากระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งกระทำโดยวิธีการหาเสียงอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายเลือกตั้งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด และห้ามผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมืองนับตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดการเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามมาตรา 156 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในโลกสื่อสารออนไลน์ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ในหมวดที่ 2 การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่ 1 วิธีการหาเสียงเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 7

การยิงเลเซอร์หาเสียงบนเสาสะพานพระราม 8 เป็นการหาเสียงรูปแบบใหม่ ที่ กกต.คาดไม่ถึง เพราะระเบียบไม่ได้กำหนดข้อห้ามไว้ ในหนังสือตอบข้อหารือให้พรรคการเมืองต่างๆ การขึ้นข้อความหาเสียงป้ายดิจิทัล ก็ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของประกาศ แต่กลับไม่ระบุว่า จะต้องไม่มีขนาดใหญ่กว่าป้ายหาเสียง เป็นช่องว่างของระเบียบ กกต. แต่การขึ้นข้อความโดยการยิงเลเซอร์ สะพานพระราม 8 ของนางสาวทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค รสทช.เป็นการหาเสียงลักษณะเชิงกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ มาเป็นกลยุทธ์ในการหาเสียง โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นการหาเสียง เอาเปรียบผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น กกต.ต้องห้ามปราม แต่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.จะปากไว ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้นไม่ได้ ต้องหาวิธีการป้องปราม เพื่อไม่ให้เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น มิฉะนั้นพรรคการเมืองอื่นย่อมกระทำได้ทั้ง 67 พรรคการเมือง ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เพราะการยิงเลเซอร์ในระยะสั้น ไม่ถือว่าเป็นป้ายหาเสียง ทั้งในระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561ข้อ 7(7) การยิงเลเซอร์ขึ้นข้อความหาเสียง ถือเป็นบทเรียนแก่ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นด้วยกัน จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เมื่อพรรคการเมืองนี้ กระทำได้ พรรคการเมืองอื่นๆ สามารถกระทำได้เช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งรัฐบาลรักษาการ จะต้องระมัดระวังตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (4) ไม่ใช่ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้าม ตามระเบียบ กกต.ที่กำหนดไว้ แม้สะพานพระราม 8 อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ กทม.ท้องถิ่นรูปแบบปกครองพิเศษ ถือว่า เป็นทรัพยากรของรัฐ เป็นเงินมาจากภาษีของพี่น้องประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น