กกต.ตอบก้าวไกลผู้สมัคร ส.ส.สามารถจ้างแรงงานจับทุจริต-สังเกตการณ์นับคะแนนเลือกตั้งได้ ส่วนผู้สังเกตการเลือกตั้งของพรรคหากไม่รับค่าจ้างต้องคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้งของพรรค
วันนี้(6พ.ค.) สำนักงานกกต.เผยแพร่การตอบข้อสอบถามกรณีพรรคก้าวไกลสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
และพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าในวันเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะสามารถจ้างแรงงานบุคคลให้สังเกตการณ์การนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง หลังปิดหีบเลือกตั้ง หรือจ้างแรงงานผู้สังเกตการณ์การทุจริตในการออกเสียงลงคะแนนโดยประจำอยู่ที่บริเวณนอกหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งเป็นผู้แทนพรรคการเมืองเพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ได้หรือไม่ และหากสามารถจ้างแรงงานได้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.สามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตราค่าตอบแทนตามความเหมาะสม เช่น ในอัตรา 500 บาท ต่อวัน ได้หรือไม่ โดยสำนักงานกกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถจ้างได้ โดยการจ่ายค่าจ้างแรงงานควรสอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด
ส่วนกรณีที่บุคคลซึ่งพรรคการเมืองแจ้งเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ตามมาตรา 55 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่ประสงค์รับค่าจ้างตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้ง สำนักงานกกต.เห็นว่า พรรคการเมืองจะต้องนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง
สำหรับที่พรรคก้าวไกลสอบถามว่าการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อวันสุดท้ายที่พรรคการเมืองสามารถดำเนินการสรรหาผู้สมัครดังกล่าวได้ คือ
วันก่อนวันเริ่มรับสมัครส.ส.เท่านั้น ใช่หรือไม่สำนักงานกกต.ระบุว่า ต้องดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 47 ถึง มาตรา 51 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566