"ศ.ดร.นฤมล "ประกาศปักหมุดชุมชนมักกะสัน ทุกคนต้องมีบ้านอาศัยที่มั่นงคง ตาม โครงการบ้านประชารัฐ 360 องศา เผย ไม่หวั่นผลโพล พปชร.กระแสไม่ดี เหตุเน้นตัวผู้สมัครแต่ละเขตเข้าถึง ปชช.ในพื้นที่ ไม่เน้นกระแสโซเชียลมีเดีย
5 พ.ค. 66 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)นำโดย ศ.ดร.นฤมล ภิณโญสินวัฒน์ เหรัญญิกและหัวหน้าทีมผู้สมัคร กทม. ลงพื้นที่ชุมชนนิคมมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ร่วมกับ นายพณิชย์ วิทยาภัทร์ ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 2 (เบอร์ 11)พรรคพลังประชารัฐ เพื่อพบปะกับประชาชน และรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ
โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า นายพณิชย์ผู้สมัครของพรรคเราได้นำปัญหาต่างๆ ในชุมชนมักกะสันที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่ก็คือ เรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายบ้านประชารัฐ ที่เราจะดำเนินการต่อยอดจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.ที่ได้ทำเอาไว้ ที่คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว รวมทั้ง ชุมชนเชื้อเพลิง ซึ่งบริเวณนี้จะมีลักษณะคล้ายกันกับชุมชนเชื้อเพลิง คือที่ดินเป็นของการรถไฟ พื้นที่ตรงนี้อาจจะต้องมีการเจรจาในเรื่องของการขอเช่า เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สร้างบ้านพักที่อยู่อาศัย เพื่อที่จะมาปรับปรุง บ้านที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น โดยที่พี่น้องประชาชนพร้อมที่จะลงทุนในบ้าน โดยทางพรรคมีโครงการ นโยบายต่างๆรองรับ มีเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน จึงมีความพร้อมที่จะมาร่วมผลักดัน ให้เกิดบ้าน ที่มีสภาพมั่นคงมากยิ่งขึ้น
"บ้านไม่ได้ เป็นเพียงบ้านพักอาศัย เราต้องเข้าใจวิถีชีวิต ของพี่น้องที่อยู่อาศัยตรงนี้ด้วย เมื่อเขาปักหลักตรงนี้ ก็คือชีวิตเขาทั้งหมดอยู่ตรงนี้ การที่จะ ให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็ต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่หมด ซึ่งเหมือนกับทุกชุมชนที่ไม่ต้องการเช่นนั้น เขาขอแค่แบ่งพื้นที่จำนวนหนึ่ง พอที่จะสร้างเป็นที่อยู่อาศัยให้สามารถทำมาหากิน ลูกหลานได้เรียนหนังสือ และยังชีพตรงนี้ได้เช่นเดียวกัน เราสัญญากับพี่น้องประชาชนว่า เมื่อผู้สมัครเข้าไปในสภา จะไปผลักดันตรงนี้ พรรคพลังประชารัฐก็จะผลักดันตรงนี้ให้เกิดขึ้น บ้านประชารัฐ ชุมชนมักกะสัน อย่างแน่นอน"ศ.ดร.นฤมล กล่าว
นอกจากนี้ ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า เราวางแบบบ้านประชารัฐเอาไว้ จะไม่ได้สร้างเป็นบล็อกๆ แต่จะออกแบบให้น่าอยู่สวยงามเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเป็นจุดเช็คอินใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวในชุมชนมักกะสันแห่งนี้ ดูวิถีชีวิต เหมือนที่เราไปญี่ปุ่น อย่างหมู่บ้านเล็กๆเขาอยู่กันอย่างไร ตรงนี้ก็จะเป็นจุดเช็คอินที่เราหวังว่าจะทำ ให้เกิดขึ้น และภายในบ้านเองจะพัฒนาให้ตรง กับผู้อยู่ เพราะแต่ละครัวเรือนก็มีผู้อยู่อาศัยไม่เหมือนกัน ซึ่งจะมีผู้สูงอายุ มีเด็กเล็ก มีผู้ป่วยติดเตียง ก็ต้องออกแบบสัดส่วน ที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ตรงใจผู้อยู่ ตรงนี้เป็นแนวนโยบายของบ้านประชารัฐ
ศ.ดร.นฤมล ยังให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการหาเสียงในพื้นที่ กทม.ว่า ตอนนี้ยังไม่พบอุปสรรคที่ต้องกังวล แต่สิ่งที่เร่ง 8-9 วันสุดท้ายคือลงในพื้นที่เป้าหมาย ที่คิดว่า มีโอกาสจะชนะ และในพื้นที่ ๆ เราคิดว่าอยากเข้าไปพัฒนาเช่น ชุมชนมักกะสันแห่งนี้ ซึ่งผู้สมัครได้ลงพื้นที่มา 4 ปีแล้วและมีความมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้ตลอดทั้งเขต ซึ่งมันไม่ใช่แค่บ้านอย่างเดียวแต่มันเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องในชุมชน และไม่ใช่เรื่องสวัสดิการและการจ่ายเงินอย่างเดียว เขาต้องการความมั่นคงยั่งยืนและมีอาชีพ มีรายได้ และมีที่เรียนซึ่งเป็นสิ่งที่ ผู้สมัคร และ พรรคพลังประชารัฐ เข้ามาลงในรายละเอียด จะมาพัฒนาให้กับพี่น้องมีอาชีพทักษะรายได้ มีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง
ส่วนกรณีที่ผลโพลที่ออกมาขณะนี้ พรรค พปชร.ดูเหมือนกระแสยังไม่ดีเท่ากับพรรคอื่นๆ ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า เราเน้นที่เขต เราไม่ได้เน้นเรื่องการทำกระแสเพราะพรรคมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปี มันเป็นเรื่องสินค้าที่ยากในการตามกระแส แต่ ทางพรรคเน้นตัวผู้สมัคร อย่างไรก็ตาม กทม.ก็จะเน้นที่เขต อย่างเขตของแป๊บ พณิชย์ เรามั่นใจว่าได้แน่ และอีกประมาณ 11 เขตเราก็มั่นใจ ในต่างจังหวัดก็เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับโพลที่มักจะอิงกระแสโซเชียลมีเดีย และภาพรวมแต่ถ้าโฟกัส เรื่องตัวเขต 70-90% เรามั่นใจ
ด้านนายพณิชย์ จากการที่ลงพื้นที่ตรงนี้มา ตลอด 3 ปีกว่าจะ 4 ปีเห็นปัญหาอย่างแรกคือ การที่รถไฟ หรือหน่วยงานอื่นๆต้องการขอพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่ให้ประชาชนหรือชาวบ้านย้ายที่อยู่ อย่างแรกต้องหาอาชีพให้ก่อนถึงจะย้าย ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตค่อนข้างมาก จึงแนะนำว่าควรหาอาชีพเสริม และอาชีพหลักให้กับประชาชนรวมถึง เรื่องสถานศึกษาก็สำคัญ เพราะเยาวชนที่นี่เรียนในพื้นที่กันหมด
นายพณิชย์ ยังกล่าวถึง การหาอาชีพที่ พปชร.เรากำลังผลักดันในเรื่องของการฝึกอาชีพแต่การฝึกอาชีพ อย่างเดียวก็เป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนและชาวบ้าน จึงเสนอว่าในหลายชุมชน เช่น พวงมาลัย ที่ร้อยอยู่ขายตามสี่แยก ถูกจ้าง ร้อยโดยชาวบ้านบริเวณนี้ โดย ได้ ค่าจ้างทวงละ 50 สตางค์ หรือพวงละ 1 บาท ซึ่งหมายความว่า ชาวบ้านอาจจะไม่ถนัด ที่จะไปขายเอง แต่ถ้ามีผู้ที่ต้องการแรงงานฝีมือในราคาไม่แพง สามารถแข่งขันได้ ประชาชนหรือชาวบ้านสามารถทำได้ ซึ่งหากพัฒนาตรงนี้ได้ ทำอย่างไรให้มีมูลค่ามากกว่านี้ ก็สามารถทำได้
"เบื้องต้นก่อนที่จะโครงการจะเริ่ม 3 ปี ที่ได้มาพัฒนาปรับปรุงอย่างแรกคือ ขอสปอนเซอร์มาติดไฟ โซล่าเซลล์ในชุมชนที่เป็นมุมอับ เพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยได้และถ้ามีโอกาสเป็น ส.ส พรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐบาลพวกเราก็จะร่วมแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและอาชีพ ไปพร้อมๆ กัน"