xs
xsm
sm
md
lg

อดีตไม่เคยจกตา จากวิวาทะ "เศรษฐา-อนุทิน" ย้อนความจำ เลือกพรรคใด ใครเป็นนายกฯ!! ** “บิ๊กป้อม” บอกอยู่คนเดียวก็ได้ ถ้าไม่มีใครจับขั้ว ไม่สนผลโพลรั้งท้าย ถามสำรวจทุกบ้านไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** อดีตไม่เคยจกตา จากวิวาทะ "เศรษฐา-อนุทิน" ย้อนความจำ เลือกพรรคใด ใครเป็นนายกฯ!!

เวทีปราศรัยที่นครพนม ต้องบันทึกไว้ว่า เป็นปฐมเหตุแห่งวิวาทะของสองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากสองพรรคใหญ่ ระหว่าง เพื่อไทย และภูมิใจไทย เมื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" เริ่มก่อนว่า "ถ้าเลือกพรรคภูมิใจไทยจะได้ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี" จนกลายเป็นประเด็นที่ภูมิใจไทย หยิบเอาไปฟ้อง ขณะที่ทนายของพรรคเพื่อไทย ก็ขู่กลับให้ระวังจะเป็นการฟ้องเท็จ

คล้อยหลังจาก “เศรษฐา” ลานครพนม "หมอหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ได้ขึ้นไปหาเสียง และใช้โอกาสอยู่นครพนม ลั่นวาจาถ้าได้เสียงมากพอ ก็บอกแล้วว่าพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี "คนชื่ออนุทิน นี่เองจะเป็นนายกฯ ... เราไม่ให้ใคร มันไม่มีคนโง่ขนาดนั้น นี่คน กินข้าว ไม่ใช่ควาย”

เรียกว่า ช่วงนี้หาเสียงแต่ละพรรคแข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่าน เมื่อฟาดมา ก็ฟาดกลับ เป็นสีสันทางการเมือง แต่หากย้อนดูอดีตที่ไม่จกตา ก็จะเห็น "ความจริงมีหนึ่งเดียว"

ว่าด้วย "เลือกพรรคใด ได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี" เลือกตั้งครั้งที่แล้ว ปี 2562 พรรคเพื่อไทย ได้ที่ 1 พรรคพลังประชารัฐ ที่ 2 พรรคอนาคตใหม่ ที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ ที่ 4 และ พรรคภูมิใจไทย ได้ที่ 5

แน่นอนว่า พรรคภูมิใจไทย ได้ที่ 5 ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องยอมรับบุคคลที่พรรคแกนนำรัฐบาล เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่พรรคเพื่อไทย นำเสนอ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คนคือ 1.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ 3.ชัยเกษม นิติสิริ ในการสู้ศึกเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทยประกาศทุกเวทีปราศรัยหาเสียง ติดป้ายทั่วประเทศ ทุกเขตเลือกตั้ง เลือกเพื่อไทยได้ “สุดารัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่หลังเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ได้ที่ 1 ทว่า “สุดารัตน์” ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เพราะรัฐสภาไม่เห็นชอบ ไม่เลือก ไม่ลงมติให้เป็น แต่เพราะพรรคเพื่อไทย ไม่เสนอชื่อ “สุดารัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา

ถ้าจำกันได้ พรรคเพื่อไทย มีมติเสนอชื่อ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ดาวรุ่งพุ่งแรง นายกฯโซเชียลฯ ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่เสนอชื่อแคนดิเดตทั้ง 3 คนของพรรคเพื่อไทย เลยสักคน

เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 พรรคเพื่อไทย มีมติไม่เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ -ชัชชาติ -ชัยเกษม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีมติเสนอชื่อ "ธนาธร" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมา วันที่ 5 มิถุนายน 2562 สมาชิกพรรคเพื่อไทย136 คนลงมติในที่ประชุมรัฐสภา เลือก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นนายกรัฐมนตรี

สิ่งที่ยังคาใจคนผู้เลือก พรรคเพื่อไทย ก็คือในการหาเสียงให้สัญญาว่า เลือกเพื่อไทยเป็นที่ 1 ได้เสียงข้างมาก จะได้บุคคลที่พรรคเพื่อไทยเสนอ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเพื่อไทย เป็นที่ 1 ได้เสียงข้างมากแล้วทำไมพรรคเพื่อไทยกลับเสนอชื่อบุคคลอื่น เป็นนายกรัฐมนตรี ?

ตามอดีตนั่นก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี

ต้องไม่ลืมว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 พรรคเพื่อไทย มี ส.ส.178 คน มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แต่เสนอชื่อ "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งมี ส.ส. 21 คน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่เสนอชื่อสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

เลือกตั้งครั้งนี้ ปี 2566 พรรคเพื่อไทยเสนอ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร- เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เสนอหนึ่งเดียว "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้จบลง ใครจะได้คะแนนเสียงมากกว่าใคร ใครจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วไปถึงขั้นตอนเสนอแคนดิเดตนายกฯ พรรคไหนจะเสนอใคร เลือกพรรคนี้แล้วได้อีกคนเป็นนายกฯ หรือไม่ เป็นไปตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ต้องติดตามอย่ากระพริบตา

**“บิ๊กป้อม” บอกอยู่คนเดียวก็ได้ ถ้าไม่มีใครจับขั้ว ไม่สนผลโพลรั้งท้าย ถามสำรวจทุกบ้านไหม

เข้าสู่บรรยากาศโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว ทุกพรรคต่างงัดกลยุทธ์ ตอกย้ำนโยบายพรรค และบอกถึงจุดยืนในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เพื่อจูงใจประชาชนออกมาสนับสนุน

อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ ก็ขนแกนนำพรรค พร้อมดรีมทีมเศรษฐกิจ ออกมาแถลงสรุปนโยบายอีกครั้ง ซึ่งประกอบไปด้วยนโยบายหลัก 7 ด้าน คือ 1. ก้าวข้ามความขัดแย้ง 2. ก้าวข้ามความยากจน 3. ลดความเลื่อมล้ำ 4. สร้างสวัสดิการเข้มแข็ง 5. พลิกฟื้นเศรษฐกิจ 6. สร้างความเป็นธรรมของสังคม และ 7. พลิกโฉมการบริหารงานของภาครัฐ

ซึ่งทั้ง 7 ด้านนี้ ก็มีรายละเอียด ที่พร้อมปฏิบัติได้ทันทีหากได้เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะหาก “บิ๊กป้อม” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี!!
จะเห็นได้ว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังคงให้ความสำคัญในเรื่อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” มาเป็นลำดับที่ 1 แม้ว่าที่ผ่านมา นโยบายนี้จะถูกตีความไปว่า พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอยู่ใน “ขั้วอนุรักษ์นิยม”พร้อมจะร่วมรัฐบาลกับ “ขั้วเสรีนิยม” ได้ แบบไม่จำเป็นต้องมาตั้งแง่

แต่ก้าวข้ามความขัดแย้งในความหมายของ “บิ๊กป้อม” คือ อยากให้คนไทยมีความรัก ความสามัคคีกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน สังคมมีความสงบสุข รัฐบาลบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น ไม่มีม็อบลงถนน ต่างชาติมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน มาค้าขาย ก็จะส่งผลให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง

“บิ๊กป้อม” ยอมรับว่า ไม่สามารถทำให้คนไทยมีความคิดเป็นหนึ่งเดียวกันได้ แต่ก็มีแนวทางในการบริหารจัดการความเห็นต่างนั้นได้ด้วยวิถีทางการเมือง ...นั่นคือ เมื่อเลือกส.ส.มาแล้ว ก็ไปว่ากันในสภา จะแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมาย ก็ให้เป็นเรื่องของสภา ส่วนเรื่องการบริหารประเทศ ก็เน้นที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชน ...ถ้าก้าวข้ามความขัดแย้งสำเร็จ ก็จะสามารถก้าวข้ามความยากจนไปด้วยกัน!!

สำหรับคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐ หลังจาก “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่พบปะประชาชน โดยเฉพาะครั้งหลังสุดที่ยกทีมนั่งรถไฟไปลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ปรากฏว่า มีเสียงตอบรับดีขึ้น ...แต่ผลโพลที่สำนักต่างๆ ไปสอบถามความเห็นมา “บิ๊กป้อม” ไม่เคยติดทอปไฟว์ในตำแหน่งนายกฯ แต่จะไปกองอยู่ในกลุ่มอื่นๆ ลำดับท้ายๆ

เรื่องผลโพล “บิ๊กป้อม”ก็ไม่ได้เก็บเอามาเป็นเรื่องบั่นทอนจิตใจ หรือ ทำให้ท้อถอย...โพลใครก็ทำได้ ก็เป็นความคิดของคน เขาได้ไปถามทุกบ้านหรือเปล่า ถามทุกคนหรือเปล่า แล้วทุกคนตอบหรือเปล่า มันก็อย่างนี้แหละ โพลก็คือโพล ดังนั้นจึงไม่ได้ดูเลย !!

เมื่อถูกถามว่า พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ “บิ๊กป้อม” ตอบว่า จะว่าพร้อมก็พร้อม แล้วแต่ประชาชนจะเลือก ถ้าเลือกผมก็พร้อม

ส่วนเรื่องการจับขั้วตั้งรัฐบาล แม้ “บิ๊กป้อม” จะยึดหลักก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งหมายถึงพร้อมที่จะร่วมกับ พรรคเพื่อไทย หรือ พรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่กันคนละขั้ว แถมมีกระแสข่าว “ดีลลับ” ซึ่งหมายถึงมีการเจรจากันล่วงหน้า ระหว่าง “บิ๊กป้อม” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” จนมีวาทกรรมว่า “เลือกเพื่อไทยได้บิ๊กป้อมเป็นนายกฯ” ซึ่งก็มีผลทำให้กระแสความนิยมในพรรคเพื่อไทยลดลง จนต้องออกมาแก้เกม ด้วยการประกาศว่า เพื่อไทยจะไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ ... ขณะที่พรรคก้าวไกลก็กลัวเสียแนวร่วม ต้องรีบประกาศว่า “มีลุง ไม่มีเรา”

ประเด็นเหล่านี้ “บิ๊กป้อม” บอกว่า ก็ไม่เป็นไร... ใครไม่จับผมก็อยู่คนเดียว ถ้าได้ 300 กว่าเสียง แล้วจะไปจับกับใครทำไมล่ะ อันนี้ขึ้นอยู่กับประชาชน ปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเอาแล้วกัน ว่าจะเลือกใคร ถ้าเขาอยากพูด ก็ปล่อยเขาพูดกันไป สุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนเป็นหลัก เราต้องเชื่อมั่นในประชาชน ดังนั้นต้องรอดูผลเลือกตั้งก่อน

... ผมพร้อมรับกับทุกพรรค ทำงานได้กับทุกพรรค ถ้าตัวเลขน้อยผมก็อยู่คนเดียว ถ้าตัวเลขมาก ก็อยู่คนเดียว เดี๋ยวก็ไปดูว่าจะจับมือกับใคร ทุกพรรคอยู่ในตัวเลือกทั้งนั้น แต่ต้องดูนโยบายด้วย ไม่ใช่นโยบายไม่ถูกกัน แล้วไปอยู่ด้วยกัน อย่างนั้นก็ขัดกันเปล่าๆ

รอหลังเลือกตั้งก็รู้ว่า แนวทางก้าวข้ามความขัดแย้ง จะส่ง“บิ๊กป้อม” ไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ เป็นแค่ผู้จัดการรัฐบาล หรือ ต้องไปอยู่คนเดียว!!


กำลังโหลดความคิดเห็น