เลือกตั้ง 14 พ.ค. หนีไม่พ้น “เกลียดอำมาตย์ เกลียดทหาร ก็เลือกส้มหรือแดง เกลียดส้มหรือแดง ก็เลือกลุง หาเสียงเกลียดกันหนักๆ เข้า ก็ลงถนน” นี่คือ “วงจรอุบาทว์” เดิมๆ ที่ “แก้วสรร” หมกมุ่นหาคำตอบจนพบจากรัสเซีย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(4 พ.ค.66) นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "คำตอบจากรัสเซีย" มีเนื้อหาดังนี้
“เลือกตั้งคราวนี้ โจทย์หลักยังเป็นเหมือนเดิมว่า “จะเกลียดใครดี” ถ้าเกลียดอำมาตย์ เกลียดทหาร ก็เลือกส้มหรือแดง เกลียดส้มหรือแดง ก็เลือกลุง พอยุพอหาเสียงให้เกลียดกันหนักๆเข้า เลือกตั้งเสร็จ ก็ไม่พ้นลงถนนกันอีกแน่ๆ
หีบเลือกตั้งวันที่ ๑๔ นี้ จึงมีไฟโหมในหีบเห็นอยู่ชัดๆ หลังเลือกตั้งแล้ว ก็ลุกลามกระพือเป็นความจงเกลียดจงชังเผาผลาญบ้านเมืองได้อีกครั้งไม่ยากเลย
วงจรอุบาทว์นี้ เกิดขึ้นอย่างไร? นี่คือคำถามที่ผมหมกมุ่นหาคำตอบมาตลอด จนวันนี้หลังจากติดตามขบคิดกับเพื่อนสำนักคิดรัสเซียในวิกฤตยูเครนมาปีกว่า ก็พอจะเห็นวิธีคิดวิธีทำจากการปฏิรูปรัสเซีย โดยการนำของปูตินว่า น่าจะช่วยชี้แนะได้มากทีเดียว ดังจะขอรายงานไปโดยลำดับ ดังนี้
“เศรษฐกิจอธิปไตย”
ถาม “เศรษฐกิจอธิปไตย” ของปูตินคือ ไม่ยอมใช้ดอลลาร์อย่างนั้นหรือ
ตอบ คือเศรษฐกิจที่ปลดแอกจากโลกาภิวัฒน์ตะวันตกแล้ว เพราะรัสเซียเขาไม่ยอมเป็นแค่แหล่งน้ำมันและแร่ธาตุราคาถูกให้เศรษฐกิจตะวันตกดูดกินอีกต่อไป เขาจึงร่วมมือกับพันธมิตร สร้างโลกการค้าใหม่ที่เสมอภาคและยุติธรรมขึ้นมาให้ได้
“เศรษฐกิจอธิปไตยเพื่อมาตุภูมิ”
ถาม ทำไมความนิยมปูตินในหมู่ชาวบ้าน จึงมั่นคงไม่ต่ำกว่า ๘๐% มาตลอด
ตอบ ๒๓ ปีที่ครองตำแหน่งมา นอกจากความเชื่อถือในตัวบุคคลแล้ว ก็คือแนวคิดมาตุภูมิที่ปูตินยึดมั่นร่วมกับชาวรัสเซียอย่างเหนียวแน่น เสาเอกหนึ่งของแนวคิดนี้คือการมีอนาคตที่ดีของคนรัสเซียทุกคน ที่ปูตินอธิบายว่า
“อนาคตของตนที่ทุกคนเห็นได้” จะไม่ทำให้คนชั้นล่างและเยาวชนหงุดหงิดจนเป็นโอกาสให้ความโกรธเกลียดเข้าสิงสู่ได้ง่าย มาตุภูมิก็จะสงบสุข
ถาม ถ้าไทยเราทำ “อนาคต” นี้ได้จริง พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล คงแลนด์สไลด์ไม่ได้แน่ๆ
ตอบ ถูกต้องครับ สองพรรคนี้หากินจากความหงุดหงิดนี้ทั้งคู่ ปูตินมองออกว่า “มาตุภูมิ” นั้น จะมีแต่ต้นทุนทางประวัติศาสตร์เท่านั้นไม่ได้ ต้องมีความสุข ร่วมกันด้วย
ถาม ปูติน จัดการอย่างไรให้ “อนาคตที่เห็นได้ทุกคน” นี้เกิดขึ้น
ตอบ ผมขอตอบเป็นรายงานข่าวจาก วงรัสเซียเลยดีกว่า ลองขบคิดตามดูนะครับว่าเขาคิดเขาลงมือปฏิรูปกันอย่างไร มันเกี่ยวอะไรกับเลือกตั้งผู้ว่าทั้งประเทศ อย่างที่ ธนาธร เสนอหรือไม่
“วันนี้ในด้านความคิดความรู้นั้น รัสเซียกำลังอธิบาย “เศรษฐกิจอธิปไตย” ในประสบการณ์และความคิดของตน ไปยังสำนักคิดต่างๆในฟากพันธมิตรอย่างเข้มข้นว่า
รัสเซีย ถือเป็นหลักก่อนว่า ทุกรัฐต้องวางเป้าของอำนาจเพื่อมวลชน มีเสาเอกสำคัญอยู่ที่ “การอยู่กินของประชาชน” เริ่มจากการสำรวจตามวิธิวิจัยและการปรึกษาหารือกับชาวบ้านที่ครอบคลุมทั่วถึง จนสรุปได้ว่า เงินเดือนที่ชาวบ้านเขาอยู่ได้คือเท่าใด ในครอบครัวลูกสองคน ซึ่งรัสเซียวันนี้ได้คำตอบแล้วว่า อยู่ที่ ๓๐๐๐๐ – ๙๐๐๐๐ บาท
จากนั้น ฝ่ายวางแผนทุกส่วนทุกระดับ ต้องพัฒนาแผนที่สอดคล้องกันขึ้นมาให้ได้ว่า เป้าหมายนี้ จะมาจากรายได้ใด ด้วยงานใด การลงทุนและพัฒนาเช่นใด จากไหนดอกเบี้ยเท่าใด โดยวิสาหกิจหรือหน่วยงานใด ทั้งรัฐวิสหกิจ ท้องถิ่น หรือเอกชน จนเกิดเป็นแผนพัฒนางานเพื่อปากท้องที่เห็นจริงได้ในที่สุด
แผนนี้จะมีฐานะสูงสุด ที่ธนาคารกลางรัสเซีย จะไม่มีสิทธิ ตั้งเพดานเงินเฟ้อ หรือกติกาไอเอ็มเอฟ หรือเกณฑ์วัดของมูดดี้ มาขวางกั้นได้เลย
เป้าหมายและวิธีคิดวิธีทำอย่างนี้นี่เอง ที่จะให้คำตอบแก่คนหนุ่มสาว และคนข้างล่างได้ โอกาสที่นักปลุกระดม นักฉวยโอกาส จะโผล่มาตั้งพรรคการเมือง ปลุกให้เปลี่ยนท่าเดียว โดยไม่รู้ว่าเปลี่ยนอะไร เพื่ออะไร หรือขาย สินค้าประชานิยมบ้าๆบอๆ เช่น ค่าแรง ๖๐๐ บาท ทุกการจ้างงาน เหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลยบนแนวทางปฏิรูปนี้
เป้าหมายเพื่อความอยู่กินได้ของชาวบ้าน ที่ชัดเจนมีเหตุผลเช่นนี้นี่เอง ที่จะมีน้ำหนักเพียงพอมาลดบำนาญ ลดกำลังพลในกองทัพได้ ถ้อยคำไร้สมองที่ถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม?” หรือ “ข้าราชการเกษียณคือช้างป่วย” เหล่านี้ จะกลายเป็นความโง่ไม่รู้จักคิดไปโดยพลันเลย
ตัวอย่างการปฏิรูปที่ คิดใหม่ ทำใหม่กันจริงๆ จนไม่ต้องให้ขุนนางกับนักปลุกระดม มาแย่งกันสมอ้างเป็นผู้อุปถัมภ์ ผู้นำ หลอกชาวชนบทหรือเยาวชนเช่นนี้นี่เอง คืองานความคิดที่รอการทำงานจริงๆ สมองจริงๆของนักวิชาการไทยจริงๆ อยู่
ถ้าไม่มีหรือไม่ทุ่มเท ก็รอ ๖ ตุลา หรือเทียนอันเหมิน เมืองไทยได้เลย ....รับรอง...ได้เห็นแน่นอน”