“ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน สับเละ “นรินทร์พงศ์” นายกสมาคมทนายความฯ ออกแถลงการณ์คัดค้าน กกต.ไฟเขียวรัฐบาลใช้งบลดค่าไฟ ชี้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เป็นเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน
จากกรณีนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยระบุว่า กกต.ต้องจัดเลือกตั้งเป็นกลางโปร่งใสชี้งบ ครม.ขออนุมัติลดภาระค่าไฟไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน เเต่เป็นการใช้หาเสียง
ล่าสุดวันนี้ (4 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อกฎหมายและสัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชน ในประเด็นร้อนดังกล่าว ว่า ตนจะอธิบายข้อกฎหมายให้พี่น้องประชาชนทราบ ในเมื่อสื่อมวลชนสอบถามข้อกฎหมาย ส่วน นายนรินทร์พงศ์ฯ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยตนไม่เคยรู้จักมาก่อน ในเมื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ ตนจะอธิบายข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนหูตาสว่าง อย่าไปสับสนข้อเท็จจริงตามคำแถลงการณ์ของนายนรินทร์พงศ์ฯ โดยบทบัญญัติมาตรา 169 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167(2) โดยการยุบสภา และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน” เป็นเงื่อนไขบังคับก่อน โดยเฉพาะปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ ถือเป็นกรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน ของประเทศ นายนรินทร์พงศ์ฯ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย อาจไม่เดือดร้อน แต่ประชาชนเดือดร้อนทุกหัวระแหง การอนุมัติงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน เป็นอำนาจของ กกต.โดยตรง อย่าลืมว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นการอนุมัติเงินหาเสียงทางอ้อมได้อย่างไร เพราะควบคุมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญ หากคณะรัฐมนตรีรักษาการ เสนออนุมัติค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนยามฉุกเฉิน กระบวนการตรวจสอบและกลั่นกรอง ขั้นตอนสุดท้าย คือ ต้องได้ความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน
เงื่อนไขบังคับก่อน ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อยกเว้น เป็นกลไกในระบบรัฐสภา คำว่า จำเป็น กับคำว่า ฉุกเฉิน มีความหมายแตกต่างกัน เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเพื่อให้คณะรัฐมนตรีรักษาการบริหารประเทศไปอย่างต่อเนื่องตามหลักการบริหารต่อเนื่อง ป้องกันสุญญากาศทางการเมือง ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ คือ ความจำเป็น นายนรินทร์พงศ์ ฯ จะเอาความหมายคำว่า จำเป็น ตาม มาตรา 67 มาใช้เทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แตกต่าง ตรงข้ามกัน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน ส่วนคำว่า ฉุกเฉิน หมายถึง ความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ ตามสภาวะบริบทของประเทศขณะนั้น ดังนั้น เหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น มาตรา 169(3) เพียงความเดือดร้อนของประชาชน ถือเป็นความจำเป็น ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแล้ว ไม่จำต้องเป็นเหตุที่ไม่อาจคาดหมายได้
ส่วนกรณีค่าไฟฟ้าแพงได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และเกิดขึ้นก่อนการยุบสภาจึงไม่ใช่กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่จะขอใช้งบกลางในขณะนี้ เพราะจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อการหาเสียงให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะซึ่งมีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง กกต. จึงต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ตนมองว่า ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงมาจากยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้ว ให้ประชาชนช่วยไปตรวจสอบด้วยว่า ค่า Ft เพิ่มตั้งแต่เมื่อใด ทำไม นายนรินทร์พงศ์ฯ ไม่เห็นออกมาดิ้นแถลงการณ์ว่า ค่าไฟฟ้าแพง หรือว่า นายนรินทร์พงศ์ฯเพิ่งนึกได้ จึงนำแถลงในฐานะนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เอาองค์กรสมาคมทนายมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งไม่ใช่ภารกิจหลักของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ดังนั้น ดุลพินิจในการเห็นชอบงบประมาณสำรอง กรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน เป็นอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบ กกต.โดยตรง การแถลงการณ์ของนายนรินทร์พงศ์ฯเป็นการคาดคะเน ว่าเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อการหาเสียงให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะ ทั้งที่ ขั้นตอนสุดท้าย มติเห็นชอบงบประมาณแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เป็นดุลพินิจเด็ดขาด ของ กกต.ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีรักษาการ ทำให้พี่น้องประชาชนที่ไม่รู้ข้อกฎหมาย สับสนในข้อเท็จจริง ไม่ควรไปชี้นำล้ำเกินอำนาจของ กกต.องค์กรอิสระ