xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพัฒนาสุขภาวะจังหวัดเชียงใหม่ที่ยั่งยืน สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) ร่วมทุนกับเครือข่ายพัฒนาเชียงใหม่ด้วยพลังใจและความร่วมมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่เฉพาะแค่ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันพิษ ปัจจุบันเชียงใหม่ จังหวัดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือซึ่งมีประชากรมากกว่า 1.7 ล้านคน กำลังเผชิญกับปัญหาที่หลากหลาย ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จนส่งผลต่อสุขภาวะของผู้คน การเฝ้ารอให้ภาครัฐแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียวคงไม่ทันการณ์ ที่ผ่านมาจึงมีโครงการภาคประชาชนเกิดขึ้นจำนวนมาก และเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเชียงใหม่ แต่หลายครั้งที่ไอเดียดีๆ ของภาคประชาชนกลับหยุดอยู่เพียงแค่ในคอมพิวเตอร์หรือหน้ากระดาษ เพราะไม่มีทุนดำเนินงานเพียงพอ

ในฐานะที่สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)​ มีภารกิจสำคัญในการสร้างโอกาส เพื่อให้กลุ่มบุคคล ชุมชน องค์กรมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาวะของตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2565 สำนัก 6 จึงจับมือกับ มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย จัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนาสุขภาวะจังหวัดเชียงใหม่ที่ยั่งยืน’ หรือ Chiang Mai Health Fund (CMHF) ซึ่งเป็นกองทุนในระดับจังหวัด ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานเรื่องสุขภาวะของภาคประชาชนในเชียงใหม่ และหากบุคคล องค์กร เครือข่าย หรือชุมชนใด มีแนวคิดที่จะสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหา ก็สามารถส่งโครงการมาเพื่อเข้ารับการพิจารณามอบทุนไปดำเนินงานได้

กองทุนพัฒนาสุขภาวะจังหวัดเชียงใหม่ที่ยั่งยืน ยังเป็นพื้นที่แห่งการร่วมทุนกันในหลายภาคส่วน ทั้งสำนัก 6, ภาควิชาการ, ภาคประชาสังคม, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคธุรกิจที่มีแนวคิดเดียวกัน โดยการร่วมทุนนับว่าเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ ที่มีจุดแข็งคือทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิด และมีความยั่งยืนกว่าในระยะยาว เนื่องจากไม่ผูกติดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

โดยกระบวนการทำงานนั้นมีการตั้งคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินงานของกองทุน ก่อนวิเคราะห์ออกมาเป็น 3 ยุทธศาสตร์หลักในการให้ทุนสนับสนุน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ลดมลภาวะทางอากาศ การขนส่งสาธารณะในเขตเมือง และการเดินทางด้วยพลังงานหมุนเวียน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเตรียมสังคมเพื่อรองรับผู้สูงวัยจากปัจจุบันสู่อนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤต ความมั่นคงทางอาหารทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ

ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปแล้ว 9 โครงการ ใน 13 อำเภอ อาทิ
โครงการ ‘Less is More School Link’ รถให้บริการรับ-ส่งนักเรียนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่, โครงการ ‘เขียว เคลื่อน เมือง’ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาระบบการเดินทางในเขตเมืองเก่า, โครงการเสริมรายได้ผู้สูงวัยโดยกลุ่มอนุรักษ์มรดกสันกำแพง, โครงการพัฒนาเกษตรกรผู้สูงอายุด้วยทักษะอาชีพ multi-skill ผ่านเครือข่ายคนสองวัย, โครงการพัฒนาขบวนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาผู้ด้อยโอกาสด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงการเพาะเห็ดโคนน้อยและการแปรรูป เป็นต้น

ทั้งหมดนี้นับเป็นกลไกลสำคัญที่สำนัก 6 ตั้งใจอยากให้เกิดการเชื่อมโยงพลังของคนเชียงใหม่ ทั้งพลังผู้คน พลังใจ พลังความรู้ พลังทุน และอีกมากมาย ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาเชียงใหม่ไปสู่ความยั่งยืน คนเชียงใหม่อยู่เย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง














กำลังโหลดความคิดเห็น