“กกต.” ซ้อมเลือกตั้ง 66 ยัน ปชช.ไม่สับสน มีข้อมูล ส.ส.ทั้งหน้า - ภายในหน่วย พร้อมนับคะแนนหน้าหน่วยทันทีหลังปิดหีบ คาดไม่เกิน 22.00 น.รู้ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการ ย้ำ ทำโพลต้องทำอย่างสุจริต ห้ามเปิดเผยในช่วง 7 วันก่อนเลือกตั้ง
วันนี้ (3 พ.ค.) สำนักงาน กกต. จัดสาธิตการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้พิการ ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ รวมถึงแนวทางการอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวในการใช้สิทธิเลือกตั้ง โดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในหน่วยเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. และการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.จะประกอบไปด้วยกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จำนวน 9 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน ผู้แทนพรรคการเมือง ป้ายปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง โดยเฉพาะป้ายไวนิลผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อติดไว้ ติดไว้บริเวณ 2 จุดสำคัญคือหน้าหน่วยเลือกตั้ง และภายในหน่วย ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ กกต.ยังได้สาธิตการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งในและนอกเขต ทั้งบุคคลทั่วไป และผู้พิการทุพพลภาพผู้สูงอายุ โดยทางสำนักงาน กกต. และ กปน. จะอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่สับสน เนื่องจากบัตรเลือกตั้ง มีขนาดและสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงขอเชิญชวนประชาชนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. นี้ออกไปใช้สิทธิ เพราะลงทะเบียนแล้วไม่อาจใช้สิทธิ์ในวันที่ 14 พ.ค.ได้ แต่หากไม่สามารถไปใช้สิทธิได้จริงๆ ขอให้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ์ก่อนเลือกตั้ง 7 วัน และหลังเลือกตั้ง 7 วัน อีกประการคือ เรื่องข้อแตกต่างของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.กับคนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. นี้ คือ กรณีคนเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.จะได้รับบัตร 2 ใบ เลือกตั้งแล้ว หย่อนบัตรในหีบ ส่วนคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าท่านจะได้รับซองด้วย ซึ่งซองนี้จะถูกส่งไปที่เขตที่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ามีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ โดยด้านล่างซองจะมีเลขรหัสเขตเลือกตั้งอยู่ ย้ำว่าไม่ใช่รหัสไปรษณีย์แต่อย่างใด ส่วนภายในซองจะมีการเจาะรู 2 รู ทั้งหน้า และหลังเพื่อให้เห็นสีบัตรเลือกตั้งว่าอยู่ภายในซองนั้นเรียบร้อยแล้ว
สำหรับการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งในช่วงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งจะมีการนับแบบเปิดเผยในหน่วยเลือกตั้ง จะเป็นลักษณะแบบเดิมคือขีดคะแนนลงบนกระดาน 2 กระดาน ซึ่งจะแบ่งเป็นผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ผ่านการขานคะแนน ทั้งนี้ กกต.ได้ซักซ้อมกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในเรื่องการจัดเตรียมสถานที่ การขานคะแนนให้เสียงดังฟังชัด พร้อมโชว์บัตรลงคะแนนให้ชัดเจน โดยพรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าสังเกตการณ์การนับคะแนนดังกล่าวได้ หากเกิดความผิดพลาดทั้งการขานคะแนนและการขีดคะแนนบนกระดาน ผู้สังเกตการณ์สามารถทักท้วงได้ทันที กปน.จะบันทึกเหตุการณ์ไว้ และสามารถร้องเรียนต่อกกต.ได้ ทั้งนี้ หลังจากนับคะแนนในแต่ละหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งผลคะแนนทั้งหมดมายังสำนักงานกกต.ทราบว่าจะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการในเวลา 22.00 น.
นอกจากนี้ นายแสวง ยังได้กำชับการทำโพลสำรวจในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ว่า สามารถได้ แต่ต้องทำโดยสุจริต ไม่ใช่จูงใจ ย้ำว่าในช่วงระยะเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งสามารถทำโพลได้ แต่ห้ามเปิดเผยโพล โดยจะสามารถเปิดเผยหลังได้อีกครั้งหลังปิดหีบเลือกตั้งในวัน 14 พ.ค.