xs
xsm
sm
md
lg

กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง! “ศุภชัย” เผย “เพื่อไทย” เป็นสารตั้งต้นนำกัญชาพ้นยาเสพติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (2 พ.ค.) นายศุภชัย ใจสมุทร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมากล่าวว่า ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด และตำหนิพรรคภูมิใจไทย ว่า ปล่อยปละละเลยให้กัญชาอยู่ในภาวะสุญญากาศ โดยโพสต์ของนายศุภชัย เป็นการโพสต์เนื้อหาไทม์ไลน์ การออกกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้กัญชาออกหลุดพ้นจากความเป็นยาเสพติด ซึ่งกระบวนการต่างๆ ล้วนเคยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกัญชากัญชงและกระท่อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การทำให้สถานะพ้นจากความเป็นยาเสพติด เสนอรายงานให้สภาเห็นชอบ โดยประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ คือ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.เพื่อไทย

“สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกัญชากัญชงและกระท่อมอย่างเป็นระบบ มีกรรมาธิการจากทุกพรรคการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรรมาธิการคณะนี้มี นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส. เพื่อไทย เป็นประธาน จนเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 กรรมาธิการได้เสมอรายงานจำนวน 367 หน้า สรุปสาระสำคัญ คือ การยกเลิกกัญชากัญชงและกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษและสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาได้มีมติเห็นชอบ ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย”

จากนั้น ปี 2563 คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด เสนอต่อรัฐสภาเนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูป โดยยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และในมาตรา 29 ได้ยกเลิกกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งรัฐสภาได้ตั้งกรรมาธิการ ก่อนพิจารณาจนแล้วเสร็จเมื่อมิถุนายน 2564 และรัฐสภามีมติเอกฉันท์เห็นชอบ ประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 การปลดล็อกกัญชาเป็นทางการจึงเริ่มนับจากวันนี้

“โดยสมาชิกทั้งสองสภามีมติเห็นชอบทั้งสิ้น 467 คน ไม่เห็นชอบ 2 คน งดออกเสียง 2 คน”

ก่อนที่ วันที่ 26 มกราคม 2565 สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคภูมิใจไทย นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ กระทั่ง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ได้ออกประกาศตามมาตรา 29 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดยกเว้นสารสกัดที่มีค่า THC สูงกว่า 0.2%

จากนั้น พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง และผ่านชั้นรับหลักการ จากนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 25 คน มาจากทุกพรรค และร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชงจนแล้วเสร็จจาก 45 มาตราเป็น 95 มาตรา เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สมบูรณ์ครบถ้วน ครอบคลุมคุ้มครองสังคม เกิดประโยชน์ในการใช้เพื่อสุขภาพ ทางการแพทย์ การวิจัยและพัฒนา ทางเศรษฐกิจ และได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อพิจารณาในวาระสองแต่ในที่สุดพระราชบัญญัติกัญชากัญชงก็ไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จเพราะมีการเตะถ่วง จากสมาชิกพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฏรด้วยเหตุผลทางการเมืองมิใช่เนื้อหาของกฎหมาย

“การที่พรรคเพื่อไทย และ เกือบทุกพรรค ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายกัญชา กัญชง หมายความว่า 373 เสียง เห็นชอบให้กัญชา พ้นจากยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด แล้วให้มีกฎหมายกัญชา กัญชง มาควบคุมกัญชา กัญชง เป็นกฎหมายเฉพาะตัว เหมือนกฎหมายกระท่อม ที่ออกมาก่อนหน้านี้ กรรมาธิการวิสามัญ ที่มีผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมกันทำงาน ได้แก้ไขร่างกฎหมายที่ พรรคภูมิใจไทย เสนอ มีการแปรญัตติ สงวนความเห็นตามกระบวนการนิติบัญญัติ เป็นร่างของกฎหมายของกรรมาธิการ เสร็จเรียบร้อย นำเสนอกลับสู่สภาผู้แทนราษฎร แต่ ปรากฏว่า มีการเล่นเกมการเมือง ไม่พิจารณาร่างกฎหมายกัญชา กัญชง จนกระทั่งพิจารณาไม่ทัน ถ้าไม่เห็นด้วย ทำไมไม่ลงมติ คว่ำร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ตามกระบวนการ แต่ใช้เกมการเมือง

เมื่อไม่มีกฎหมายมาควบคุมเพียงพอทั้งที่พรรคการเมืองได้ปลดล็อกกัญชาเอง ทุกพรรคการเมืองต้องร่วมกันเร่งทำกฎหมายเฉพาะ หรือกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.กัญชากัญชง ให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่ แต่กลับเป็นว่ามีการเล่นเกมการเมืองกันโดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เมื่อกฎหมาย ไม่ผ่าน

ทุกพรรคการเมืองที่ไปบิดเบือนเรื่องกัญชา กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้องโหวตกัญชาให้พ้นยาเสพติดมาด้วยกัน กลับไปบิดเบือน ใส่ร้าย โจมตี พรรคภูมิใจไทย เรื่องนี้มีเอกสารในรัฐสภาเป็นประวัติศาสตร์ชาติ บันทึกเอาไว้อยู่แล้ว

ความจริงก็คือ หากเห็นว่าตอนนี้สถานการณ์นี้ คือ กัญชาเสรี อย่างที่พรรคเพื่อไทยกล่าว พรรคการเมืองที่ทำให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้น ก็คือ พรรคการเมืองที่ไม่แสดงตนจนองค์ประชุมไม่ครบ พรรคการเมืองที่เตะถ่วงจนร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชงไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จจนสภาหมดวาระไปนั่นแหละและต้องรับผิดชอบกับสถานการณ์นี้

ความจริงก็คือ คนที่เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี หรือ เลขาธิการพรรคการเมืองใหญ่ ไม่ควรจะออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ฟังเหมือนการบิดเบือน เว้นแต่แกล้งโง่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ซึ่งคนในสถานะเช่นนี้ไม่พึงกระทำ”


กำลังโหลดความคิดเห็น