xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ยินดีไทยส่งออกข้าวไตรมาส 1/66 กว่า 2 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 3.8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดีไทยส่งออกข้าวไตรมาส 1/2566 กว่า 2 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลมาตรฐาน พร้อมเดินหน้าพัฒนาข้าวไทยตอบโจทย์ตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-มีนาคม) ซึ่งไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากถึง 2.06 ล้านตัน มูลค่ารวม 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 18.48 และร้อยละ 29.26 ตามลำดับ ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีเป็นอย่างยิ่งที่ข้าวไทยได้รับความนิยมในตลาดโลก พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลควบคุมคุณภาพข้าวให้ได้ตามมาตรฐาน พร้อมเดินหน้าพัฒนาข้าวไทยให้ตอบโจทย์ตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุด กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้สร้างองค์ความรู้และการตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาข้าวให้แก่เกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว ผ่านการจัดงาน Thailand Rice Convention (TRC) 2023 สัญจร ครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 - 25 เมษายน 2566 ณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 มีเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ตามหลักการ “ตลาดนำการผลิต” พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว การตรวจสอบมาตรฐานข้าวก่อนส่งออก ระบบโลจิสติกส์ของการส่งออกข้าว รวมถึงสถานการณ์และแนวโน้มตลาดข้าวในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรอย่างครบวงจร และช่วยให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญในการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวไทยไว้ที่ 7.5-8 ล้านตัน ซึ่งในไตรมาสแรก ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากถึง 2.06 ล้านตัน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ อิรัก ร้อยละ 16.38 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 13.08) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 8.62) แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 8.24) และเซเนกัล (ร้อยละ 5.86) ตามลำดับ

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาข้าวไทยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกให้ได้ตามเป้าหมาย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของข้าวไทย โดย นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า ข้าวไทยมีชื่อเสียงในตลาดโลก จากเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงคุณภาพในการผลิต ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมทั้งกำชับทุกภาคส่วนดูแลมาตรฐานและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงชื่อเสียงของข้าวไทยในตลาดโลก” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น