เมืองไทย 360 องศา
หากใครเชื่อเรื่องผลโพลที่ออกมาสารพัดโพล แม้ว่าบางสำนักจะออกไปคนละทิศละทาง แต่เอาเป็นว่า มีโพลที่ระบุว่า พรรคก้าวไกลกำลังมาแรง ขณะที่แนวโน้มของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยเฉพาะ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ล่าสุด ผลสำรวจที่อ้างอิงออกมาพบว่ามีความนิยมลดลง
แน่นอนว่า นี่คือ “ข่าวร้าย” สำหรับพรรคเพื่อไทยอย่างแรง โดยเฉพาะผู้สนับสนุนคนสำคัญอย่าง “พี่โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีทุจริตอยู่ต่างประเทศ เพราะนั่นเท่ากับว่า โอกาสที่จะเกิดรายการ “แลนด์สไลด์” ดับวูบลงทันที ที่ต้องพูดแบบนั้น เพราะการเมืองยังแบ่งเป็น “สองขั้ว” เข้มข้น และเวลานี้กลายเป็นว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล อยู่ขั้วเดียวกัน ไม่มีทางโหวตข้ามฟาก หากผลออกมาตามโพลที่ว่าจริง มันก็เท่ากับ “ตัดกันเอง” ความแรงของก้าวไกล เท่ากับพรรคเพื่อไทยหดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ หากพิจารณาสำหรับฐานเสียงในภาคอีสาน ที่คิดว่าเป็นฐานเสียงหลักมาช้านาน จนอาจเรียกว่าเป็น “ของตาย” ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ถึงขนาดถูกเปรียบเปรยว่า แม้ส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงไปก็ชนะขาด แต่คราวนี้ต้องเจอกับคู่ปรับเก่าอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่คราวนี้มีการเตรียมตัวมาดี หลังจากได้เป็นฝ่ายรัฐบาลมาสี่ปี เชื่อว่า มี “กระสุน” เต็มกระเป๋าแน่นอน การเติบโตของภูมิใจไทย หากยิ่งรุกกินแดนลึกเข้าไปมากเท่าใด มันก็กระทบกับเพื่อไทยมากขึ้น ซึ่งผลโพลก็ชี้ว่า ภูมิใจไทย ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มาแรงเหมือนกัน
ประกอบกับเมื่อเทียบกันระหว่างตัวบุคคลที่เป็นผู้สมัคร “ทีมเศรษฐกิจ” หากมองกันแบบตรงไปตรงมาแล้ว ก็ล้วนเป็นหน้าเก่าๆ ดั้งเดิม ชุดความคิดก็เดิมๆ และหากบอกว่าพรรคนี้มีจุดเด่นเรื่อง “นโยบายประชานิยม” มันก็ต้องคิดออกมาให้โดนทุกครั้ง แต่คราวนี้ลองสังเกตดูแทบทุกพรรคส่วนใหญ่จะคล้ายกัน จนอาจจะเรียกว่า “ทันกัน” หรืออย่างเช่น นโยบายแจงเงิน “ดิจิทัล” หัวละหมื่นบาท ให้กับคนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้น แบบเหวี่ยงแหไม่เลือกหน้าว่ารวยแสนล้านจนถึงยาจก กลายเป็นหอกทิ่มแทงกลับมา เพราะมีจุดอ่อนให้โจมตีสารพัด เอาเป็นว่า “ไม่ปัง” อย่างที่คิดก็แล้วกัน อีกทั้งเมื่อสู้กันในกระแสโซเชียลมีเดียแทบทุกพรรค ก็เข้าถึงได้ใกล้เคียงกัน ต่างกับเมื่อครั้งการเลือกตั้งเมื่อปี 44 หรือ 48 ที่ประชานิยมเป็นของใหม่ การตลาดที่ไม่มีพรรคใดทำมาก่อน จนนำโด่งเข้าป้ายในตอนนั้น
มาวันนี้ หากโฟกัสไปเฉพาะ “แคนดิเดตนายกฯ” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน สองตัวหลัก มาถึงวันนี้แม้ว่า “อุ๊งอิ๊ง” จะนำหน้าทุกคน แต่มันไม่เด่นด้วยตัวของเธอเอง ผิดกับในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตอนนั้นถือว่า สด ใหม่ ถือว่า “ทิ้งขาด” แต่พอได้เป็นนายกฯหญิงคนแรก มันก็กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่ส่งมาถึงหลานสาวในเวลานี้
อีกทั้งเมื่อถูกตั้งคำถามเรื่อง “ความคลุมเครือ” กับกลุ่มฐานเสียงเดิม ทั้งในเรื่อง “สาม ป.” ข่าว “ดีลลับ” ที่ถูกมองว่า “ไม่เคยชัดเจน” และคนที่ยืนยันก็ยังถูกมองว่า ไม่มีอำนาจตัดสินใจจึงไม่มีน้ำหนัก ขณะที่อีกพรรคคือก้าวไกลที่ประกาศชัดเจนว่า “มีลุงไม่มีเรา” มันก็ทำให้ฐานเสียงในกลุ่มนี้ไหลไปทางก้าวไกลนั่นเอง
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วิเคราะห์ถึงกรณีผลโพลหลายสำนักที่พรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลัง จะมีผลทางการเมืองอย่างไร ว่า ในการสำรวจของนิด้าโพล พบว่า พรรคเพื่อไทย มีคะแนนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ตอนนั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย เปิดตัวเข้าสู่การเมือง ก็พบว่า คะแนนนิยมในส่วนของตัวบุคคลที่ประชาชนจะเลือกเป็นผู้นำ คะแนน น.ส.แพทองธาร ก็เริ่มเข้ามาเรื่อยๆ จนบางช่วงสูงกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสูงกว่าคนที่ตอบว่ายังไม่ได้ตัดสินใจจะเลือกใคร จากนั้นคะแนนนิยมของ อุ๊งอิ๊ง ก็ไต่ขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน พบว่า พรรคก้าวไกล ก็ตามพรรคเพื่อไทย มาแบบห่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แฟนคลับก้าวไกลจะอยู่ในช่วง 18-25 ปี ที่เรียกกันว่า นิวโหวตเตอร์ ซึ่งเดิมก้าวไกลมีคะแนนนิยมในโหวตเตอร์กลุ่มนี้เยอะ แต่พอ อุ๊งอิ๊ง เริ่มเดินสายหาเสียงทั่วประเทศ ตั้งแต่ พ.ย. - ธ.ค. 65 และต่อเนื่องมาพบว่าทำให้สามารถดึงคะแนนเสียงจากโหวตเตอร์กลุ่มนี้มาที่เพื่อไทยและอุ๊งอิ๊งได้ ส่งผลให้ผลโพลของนิด้าโพลที่ออกมา ตั้งแต่ทำโพลเลือกตั้ง 2566 คะแนนของอุ๊งอิ๊ง และเพื่อไทยนำโด่งมาตลอด
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ผลโพลของนิด้าโพลล่าสุด ที่ออกมาเมื่อ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา ก้าวไกลพุ่ง แต่เพื่อไทยคะแนนลดลง จากที่เคยได้เยอะสุดตอนทำโพลเลือกตั้งครั้งแรกๆ ร่วม 49 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ก็เริ่มลดลงมาเหลือ 47 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทางกับพรรคก้าวไกล ที่ขึ้นจาก 17 เป็น 21 เปอร์เซ็นต์
ผศ.ดร.สุวิชา กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นพูดง่ายๆ ก็คือ เกิดการแย่งกัน กินคะแนนเสียงกันเอง โดยก้าวไกลไปกินคะแนนของเพื่อไทย และพรรคเสรีรวมไทย และหากยังเป็นแบบนี้ พรรคเสรีรวมไทย อาจมีแค่หัวหน้าพรรคคนเดียวที่ได้เดินเข้าสภา ซึ่งการที่คะแนนนิยมของก้าวไกลสูงขึ้น ทำให้เพื่อไทย เกิดอาการมึน จนต้องเร่งปรับตัวกันใหญ่ เพื่อสู้กับกระแสก้าวไกล ตอนนี้หากสังเกตดูจะเห็นได้ว่า เพื่อไทยไม่มีคำว่าเกรงใจพรรคก้าวไกลอีกแล้ว การให้สัมภาษณ์ทุกวันนี้ของคนในพรรคเพื่อไทย ใส่ก้าวไกลเต็มๆ ไม่มีแตะเบรก ชนได้ชนเลย การที่พรรคก้าวไกลคะแนนขึ้น แต่เพื่อไทยลดลง ถามว่าแบบนี้ใครยิ้ม แน่นอนว่า ก้าวไกลคงยิ้ม เพราะตัวเองคะแนนขึ้น
แต่อีกกลุ่มที่ยิ้มขึ้น คือ “ลุงป้อม” พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะอะไร ยกตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้งต่างๆ ที่ตอนนี้ เพื่อไทย ตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต อาจกำลังนำอยู่ที่ 35,000 คะแนน ส่วน คะแนนพลังประชารัฐ ตามมาที่สอง คือ ประมาณ 33,000 คะแนน ก้าวไกล ไล่มาอันดับสาม 28,000 คะแนน แต่หากก้าวไกลไปตัดคะแนนเพื่อไทย เช่นไปตัดมาจากเพื่อไทยสัก 3,000 คะแนน ก้าวไกลจะขึ้นไปที่ 31,000 คะแนน ทำให้เพื่อไทย จาก 35,000 คะแนน จะเหลือ 32,000 คะแนน ทำให้พลังประชารัฐ ที่อยู่ที่ 33,000 คะแนน แบบนี้ พลังประชารัฐเข้าวินเลย ตาอินแข่งกับตานา สุดท้ายกลายเป็นตาอยู่ได้ไป
“การที่คะแนนก้าวไกลเพิ่มขึ้นแบบนี้ อาจทำให้บางพรรค เช่น พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ยิ้มอย่างมีความสุข เพราะมีโอกาสจะเป็นตาอยู่ แบบนี้คนปวดหัวที่สุด คือ เพื่อไทย ทำให้ความหวังเพื่อไทยที่ต้องการจะแลนด์สไลด์ ทุกวันนี้ยากแล้ว หรือหากไม่แลนด์สไลด์ เพื่อไทยก็ต้องการสองร้อยเสียงขึ้นไป แต่ดีไม่ดี หากเป็นแบบนี้เพื่อไทยจะได้ไม่ถึงสองร้อยเสียง ถ้าโดนพรรคก้าวไกล แย่งมากๆ ตรงนี้คือปัญหา ทำให้เพื่อไทยเลยพยายามแก้เกม ต้องโหมสร้างกระแสว่า ต้องเลือกเชิงยุทธศาสตร์ โดยพยายามบอกว่าขอให้ประชาชนเลือกเพื่อไทยทั้งสองใบ เพื่อต้องการคะแนนคืน เพราะวันนี้คะแนนที่เพื่อไทยเสียไป เขาเสียให้ก้าวไกล ไม่ใช่เสียให้ใครเลย เพราะเขารู้ว่าหากก้าวไกลทำแบบนี้ ผลสุดท้าย เรือมันจะจมด้วยกันทั้งคู่ จะร่วงด้วยกันทั้งคู่” ผอ.นิด้าโพล ระบุ
นั่นเป็นความเป็นของ ผอ. “นิด้าโพล” ที่ผลสำรวจออกมาให้เพื่อไทยกับก้าวไกลนำโด่งมาทุกครั้ง ยังระบุว่า นอกเหนือจากคะแนนของพรรคเพื่อไทย และ “อุ๊งอิ๊ง” ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ มีแนวโน้มคะแนนนิยมลดลง ขณะที่ก้าวไกลออกมาในทางตรงกันข้าม แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นการ “ตัดกันเอง” ขณะที่อีกฝั่งนั่งยิ้ม
ดังนั้น หากพิจารณาจากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้มองเห็นว่าโอกาส “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย ทำท่า “ปิดฉาก” ลงอย่างชัดเจน ซึ่งก็สอดคล้องกับความมั่นใจตั้งแต่แรกของหลายคนแล้วว่ามัน “ไม่มีทางเกิดขึ้น” ขณะเดียวกัน ก็เริ่มได้เห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อีกครั้ง โดยก็ยังเป็นแบบเดิมๆ นั่นคือ บอกว่า “จะกลับบ้านเร็วๆ นี้” เพื่อมาเลี้ยงหลาน ซึ่งหากมองในมุมนี้ มันก็เหมือนการกระตุ้นผู้สนับสนุนให้ช่วยกันโหวตให้ชนะเพื่อให้เขาได้กลับมาเลี้ยงหลาน จะว่าไปก็เหมือนกับความหวังสุดท้ายแล้ว !!